2552/06/04

"ดีไซเนอร์"

แห่เปิดหลักสูตรออกแบบแฟชั่น เอาใจวัยมันฝันเป็น"ดีไซเนอร์"

'แห่เปิดหลักสูตรออกแบบแฟชั่น

ความแรงของ "โครงการกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น" ไม่เพียงปลุกกระแสให้วงการแฟชั่นเมืองไทยตื่นตัวเท่านั้น หากยังปลุกวิญญาณคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจด้านแฟชั่นมากขึ้นอีกด้วย กระแสแรงถึงขนาด "มหาวิทยาลัยศิลปากร" ลงทุนเปิดหลักสูตรใหม่!! "ภาควิชาออกแบบเครื่องแต่งกาย" เพื่อรองรับกระแสวัยมันที่ฝันอยากเป็น "ดีไซเนอร์"

สำหรับที่มาที่ไปของภาควิชาที่ตั้งขึ้นตาม "กระแส" นี้ อ.อนุชา โสภาคย์วิจิตร์ หัวหน้าภาควิชาออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าว่า ภาควิชาออกแบบเครื่องแต่งกาย เป็นภาควิชาน้องใหม่ล่าสุด รับเฉพาะนักศึกษาที่จบการศึกษาระดับ ปวส. หรือมีประสบการณ์ทำงานด้านแฟชั่นมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี ขณะนี้เปิดสอนนักศึกษารุ่นที่ 1 จำนวน 24 คน

"ก่อนจะเปิดภาควิชาออกแบบเครื่องแต่งกาย วิชานี้เคยเป็นหนึ่งในวิชาเลือกของภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑศิลป์ ซึ่งได้ปิดตัวลงไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เนื่องจากไม่ได้รับความสนใจจากนักศึกษา แต่หลังจากเกิดโครงการกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น วิชานี้ก็กลับมาได้รับความนิยมจากเหล่านักศึกษาอีกครั้ง และมากถึงขนาดต้องเปิดเป็นหลักสูตรสอนกันอย่างจริงๆ จังๆ เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษาที่อยากเรียนด้านแฟชั่นโดยเฉพาะ และไม่เพียงเฉพาะ ม.ศิลปากรเท่านั้นที่เปิดสอนหลักสูตรนี้ ยังมีอีกหลากหลายมหาวิทยาลัยที่สอนด้านนี้เหมือนกัน อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ม.ธรรมศาสตร์, ม.เกษตรศาสตร์, ม.รังสิต ซึ่งหลักสูตรนี้ส่วนใหญ่เปิดสอนในคณะศิลปกรรม"

แม้จะเป็นภาควิชาที่เปิดขึ้นตาม "กระแส" แต่เพื่อให้สมน้ำสมเนื้อกับการลงทุน ทางมหาวิทยาลัยจึงเขียนหลักสูตรชนิดเข้มข้น โดยดูตัวอย่างหลักสูตรจากสถาบันสอนแฟชั่นชื่อดัง อาทิ มารอนโกนี่ ประเทศอิตาลี, เซนต์มาร์ติน ประเทศอังกฤษ
"การเรียนการสอนจะเน้นไอเดียสร้างสรรค์ การออกแบบเสื้อผ้าที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ส่วนเหตุผลที่มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตร 2 ปี เพราะขณะนี้เนื้อที่ด้านการเรียนการสอนจำกัด แต่มีโครงการเปิดหลักสูตร 4 ปี แน่นอน"

แม้จะเปิดสอนได้แค่ปีเดียว แต่นักศึกษารุ่นแรกก็สร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยแล้ว เมื่อมีผลงานออกไป "โชว์" ในงานบางกอกแฟชั่น วีค ที่ผ่านมา และได้รับความสนใจจากผู้เข้าชม ยิ่งไปกว่านั้นผลงานออกแบบแฟชั่นคอลเลคชั่น "What"s Next?" นี้ ยังได้รับการความสนใจจากอเมริกาถึงขั้นขอนำไป "โชว์" ที่โน่นด้วย

เมื่อผลงานได้รับความ "สนใจ" ขนาดนี้ นักศึกษารุ่นบุกเบิก "โน๊ต" พีระเดช รุ่งเรืองบรรเจิด วัย 21 ปี เล่าว่า เป็นผลงานที่ภูมิใจมาก เพราะพึ่งเรียนได้แค่ปีเดียว และใช้เวลาทำเพียง 2 วัน แต่ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่ชื่นชมจากคนภายนอก เป็นกำลังใจดีดีที่ทำให้ต้องตั้งใจเรียน เพื่อจะสร้างผลงานออกมาให้ดียิ่งขึ้น

"ต้องขอบคุณกระแสที่ทำให้เด็ก ปวส.อย่างโน๊ตได้เรียนในสิ่งที่รัก ซึ่งพอมาเรียนแล้วรู้เลยว่าวิชาแฟชั่นไม่ใช่แค่เรียนเย็บผ้าแล้วจบออกมาทำงานได้ แต่ต้องรู้ลึกลงไปถึงประวัติศาสตร์แฟชั่นแต่ละยุค มีความรู้เรื่องเทรนด์แฟชั่น ซึ่งทำให้ต้องอัพเดตตัวเองตลอดเวลา รวมทั้งรู้ด้านอุตสาหกรรมในวงการเสื้อผ้า เป็นวิชาที่ต้องใช้ความพยายามและตั้งใจเรียนมาก"
นอกจากจะเป็นวิชาที่ไม่หมูแล้ว "เอ๋" กัลยาณี แช่มสะอาด วัย 31 ปี ยังบอกว่า เป็นวิชาที่มีการบ้านเยอะมาก แต่ไม่ท้อ เพราะอาจารย์ที่มาถ่ายทอดวิชาให้หลายท่านเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับในวงการแฟชั่นไทย ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์จากห้องเสื้อพิจิตรา

"แม้เป็นรุ่นแรกของภาควิชาแต่มั่นใจในตัวในมหาวิทยาลัย เพราะที่นี่จะมีการวัดผลทั้งตัวอาจารย์และศิษย์เพื่อหาจุดบกพร่องและนำไปแก้ไขให้ดีขึ้น จึงเชื่อว่าวิชานี้จะไม่เป็นวิชาที่เปิดสอนตามกระแส และจะหายไปเมื่อกระแสหมด หากจะเป็นภาควิชาที่อยู่คู่ศิลปากรไปอีกนาน สำหรับใครที่อยากเรียนวิชานี้ต้องรัก ถ้าไม่รักจะเรียนไม่ได้เลย เนื่องจากเป็นวิชาที่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เพราะคุณสมบัติของคนที่จะเป็นดีไซเนอร์ที่ดีได้ต้องมีแนวเป็นของตัวเอง"

เป็นการ "ตาม" กระแส ที่สร้างสรรค์ไม่น้อย เพราะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ "อนาคตของชาติ" โดยตรง ทีนี้ก็ขึ้นอยู่ที่อนาคตของชาติล่ะว่าจะ "ตักตวง" วิชาความรู้ได้มาก-น้อยแค่ไหน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น