นำข้อมูลมาจาก http://www.artsmen.net/content/show.php?Category=mythboard&No=5760 ครับ
แผ่นดิน มหาสมุทร ไม่กว้างเท่าแผนที่ เห็นทีจะเป็นเรื่องจริง เพราะต่อให้ใหญ่กว้างขนาดไหน ที่สุดแล้วก็ย่อให้เล็กลงตามมาตราส่วนเท่าที่นักแผนที่กำหนดลงบน -
แผ่นกระดาษหรือลูกโลก กระนั้นก็ตาม หลายคนคงสงสัยหรืออยากรู้ว่า เริ่มแรกแผนที่มีหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วประเทศไทยเริ่มปรากฏบนแผนที่โลกเมื่อใด ?
นักวิชาการภาคภูมิศาสตร์ของไทย ผ่องศรี จั่นห้าว คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับแผนที่ ในหัวข้อ "ความถูกต้องทางวิชาการของแผนที่ประเทศไทย กรณีศึกษาพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์" และ "ความถูกต้องของผู้ผลิตแผนที่พาณิชย์ต่อผู้ใช้" เพื่อนำไปอ้างอิง แต่เมื่อสืบค้นไปถึงวิวัฒนาการแผนที่แล้ว ทำให้เห็นร่องรอยในอดีต ตั้งแต่ยุคดินเหนียว หนังสัตว์ เปลือกไม้ เรื่อยมาถึงผ้า กระดาษ
ทั้งนี้ การปรากฏของทวีปต่างๆ และสยามบนแผนที่โลก พอจะแบ่งตามช่วงระยะเวลาได้เป็นสังเขป ถ้าย้อนไปยุคเริ่มต้นมีแผนที่ นักวิชาการยอมรับกันว่า แผนที่ชิ้นแรกปรากฏขึ้นในโลกมีอายุประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว โดยเขียนลงบนดินเหนียว รู้จักกันในชื่อว่า Clay Tablet
ลักษณะเป็น "แผนที่โฉนด" (Ca dastral Map) หรือ "แผนที่ชุมชน" แสดงอาณาเขตกรุงบาบิโลน บริเวณลุ่มแม่น้ำไลน์และภูมิประเทศโดยรอบ ลักษณะแสดงให้เห็นเป็นภูเขา ทางน้ำ บ้าน จากเส้นทางกรุงไบแซนไทน์(Byzantine) ไปปากแม่น้ำดานูป
กระนั้นก็ดี สถาบันการสำรวจและทำแผนที่ของกรุงปักกิ่งก็อ้างว่า แผนที่มณฑลฉางชา ซึ่งขุดได้จากฮวงซุ้ยราชวงศ์ฮั่น ณ มาวังทูอี มณฑลฉางชา เป็นแผนที่เก่าที่สุดของโลก มีสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถนน ทางน้ำ ภูเขา หมู่บ้าน และมีตัวเลขบอกจำนวนครอบครัว แต่ลักษณะแผนที่กลับหัว คือทิศเหนืออยู่ด้านล่าง ทิศตะวันออกอยู่ด้านซ้าย ปัจจุบันบางหมู่บ้านในแผนที่ยังคงปรากฏอยู่ในเขตลุ่มน้ำเชียวฉุย (Xiao shui)
ส่วนแผนที่ที่แสดงพื้นที่ของประเทศไทยที่ได้จากการค้นคว้า สันนิษฐานว่า แผนที่ที่น่าจะเก่าที่สุดคือ "แผนที่ Ramusio" แสดงที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ (Lago de chaimay)
วัสดุที่ใช้เป็นแผ่นไม้ โดยแผนที่นี้แสดงทะเลสาบเชียงใหม่ ที่ชาวพื้นเมืองเรียกว่า "Cunebete" บางทีเรียกว่า "ทะเลสาบแห่ง Singapamor" แต่กลับหัวเหมือนแผนที่มณฑลฉางชาของจีน และแผนที่ Ramusio แสดงให้เห็นว่ามีอิทธิพลต่อแผนที่ในช่วงต่อมา คือความเชื่อที่ว่า ทะเลสาบเชียงใหม่เป็นต้นน้ำ 6 สาย โดยแม่น้ำ 3 สาย ไหลลงอ่าวเบงกอล และอีก 3 สาย เป็นต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา
แผนที่โลกก่อนปรากฏรูปร่างประเทศไทย
นักวิชาการภูมิศาสตร์ท่านนี้ได้ถ่ายทอดให้เห็นแผนที่ช่วงที่ 2 นี้นับว่าน่าสนใจยิ่ง ตั้งแต่สมัยที่อริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีก(384-322 B.C.) เริ่มสงสัยว่า โลกนั่นมีลักษณะเป็นทรงกลม นักวิทยาศาสตร์พยายามพิสูจน์ด้วยการเดินทางรอบโลก
กระทั่งร้อยปีก่อนคริสตกาลนักภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์ชาวกรีกนาม "สตราโบ"(Stra bo) ได้เขียนแผนที่จากคำบอกเล่าของนักสำรวจใช้หลักการสังเกตทิศทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์และดวงดาวต่างๆ และเขาก็ชี้ให้เห็นว่าโลกมีเพียง 3 ทวีป ได้แก่ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา แม้รูปร่างไม่ถูกต้องนัก แต่ก็ทำให้สตราโบได้ชื่อว่าเป็นนักแผนที่คนแรกของโลก
กระนั้นความก้าวหน้าของการทำแผนที่อย่างชัดเจน ก็คือผลงานของนักปราชญ์ชาวกรีก คลอเดียส พโตเลมี(90-160 A.D.) แสดงแผนที่ Geographia และ World Atlas แสดง 26 ภูมิภาคโลก(87-150 A.D.) ผลงานชิ้นนี้ชาวอาหรับเป็นผู้เก็บรักษาไว้นานถึง 1,000 ปี จึงนำออกมาเผยแพร่ต่อชาวโลก
ทว่า แม้จะมีการสืบค้นว่าผลงานของพโตเลมีนี้ได้รับอิทธิพลจากแผนที่มารินุส(Marinus) ซึ่งเป็นชาวเมืองคาร์เธจ(เลบานอนในปัจจุบัน) ร่วมสมัยกับพโตเลมี อันเป็นที่ยอมรับกันต่อมาว่า เป็นนักทำแผนที่และนักภูมิศาสตร์ยุคแรก แต่พโตเลมีได้จัดทำแผนที่โลก แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับพื้นแผ่นดินและพื้นน้ำ ครอบคลุมจากมหาสมุทรแอตแลนติกไปถึงมหาสมุทรอินเดีย ทั้งนี้ รายละเอียดหลักๆ อยู่ที่อาณาจักรในยุโรปและคาบสมุทรอาหรับ แต่ยังไม่ปรากฏข้อมูลบริเวณประเทศอินเดียหรือจีน รวมทั้งพื้นที่ประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม แผนที่ของพโตเลมีถือว่ามีอิทธิพลมากต่อวงการแผนที่ในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นแผนที่ระวางแรกแสดงเส้นละติจูด และลองจิจูด เป็นลักษณะตารางกริด(graticule) แม้ไม่ถูกต้องหมดตามความรูปร่างของชายฝั่งและเกาะก็ตาม แต่ชาวกรีกและโรมันยุคต่อมานำมาใช้แสดงลักษณะประเทศ บริเวณรอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมากขึ้น ขณะเดียวกัน ซีกโลกตะวันออกก็เริ่มเป็นที่รู้จักด้วย
ประเทศแรกในซีกตะวันออกที่เริ่มบุกเบิกงานด้านทำแผนที่ดูเหมือนจะเป็นประเทศจีน นักวิชาการ ยิง ยิงชุน แห่งสถาบันการสำรวจและการทำแผนที่กรุงปักกิ่ง รายงานว่า แผนที่บนผ้าไหมในรัชกาลจักรพรรดิเวนที(Wendi) แห่งราชวงศ์ฮั่น เป็นแผนที่ที่เก่าที่สุดเท่าที่พบในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยพิเคราะห์ส่งเสริมให้จีนเห็นความสำคัญการทำแผนที่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล คืออุปกรณ์เข็มทิศ กระดาษเพื่อการเขียนแผนที่ ทั้งกล่าวว่า มีความรู้ทางด้านดาราศาสตร์อย่างกว้างขวางมาก่อนชาติอื่น
สถาบันปักกิ่งยังรายงานอีกว่า ชั่ง เฮง นักดาราศาสตร์สมัยราชวงศ์ชั่ง(Shang) ร่วมสมัยเดียวกับพโตเลมีและมารินุส ได้เขียนตารางกริดขึ้นบนแผนที่มาแล้ว แม้มิได้ระบุว่าเป็นเรื่องของการย่อส่วนหรือมาตราส่วน แต่วงการแผนที่เป็นที่ยอมรับกัน
อย่างไรก็ดี นักแผนที่ภูมิศาสตร์คนแรกของจีนอย่างแท้จริงอยู่ในยุคราชวงศ์ชิน(Chin) คือ แฟ ซุย(ค.ศ.224-271) แสดงให้เห็นชัดเจนว่าแผนที่ของจีนก้าวไกลกว่าซีกโลกตะวันตกมาก เขียนคู่มือการทำแผนที่อธิบายถึงมาตราส่วน ระยะทาง ทิศทาง และความสูงไว้อย่างถูกต้อง
เมื่อเข้าสู่แผนที่ช่วงที่ 3 ช่วงสมัยกรีกและโรมันเรืองอำนาจ ลักษณะเด่นอยู่ที่รูปร่างของโลก ที่นักภูมิศาสตร์พยายามถ่ายทอดลงบนแผนที่ แม้ระยะแรกของช่วงที่เป็นยุคมืด(Dark Age) ของยุโรป เสรีภาพทางความคิดและวิชาการถูกปิดกั้น โดยเฉพาะด้านศาสนา อนุญาตให้มีการเผยแพร่ว่าพระเยซูคริสต์เจ้าเป็นผู้สร้างโลกเท่านั้น แต่เมื่อยุคมืดผ่านพ้นไป การเผยแพร่วิชาการและทางศาสนาก็ได้กระจายไปอย่างกว้างขวาง แม้แต่แผนที่ยังแสดงถึงอิทธิพลของแนวความคิดทางศาสนาอย่างเด่นชัด
แผนที่ฉบับที่เด่นที่สุดช่วงนี้คือ Turin Map หรือแผนที่ T-O คริสต์ศตวรรษที่ 12 แสดงให้เห็นถึงอาณาจักรที่รุ่งเรือง มีกรุงเยรูซาเล็มอยู่กลาง มีอาณาจักรที่เรียกว่า เอเชีย แอฟริกา และยุโรป แต่ตำแหน่งทวีปยังไม่ถูกต้อง เอเชียอยู่ด้านบนของแผนที่ ยุโรปอยู่มุมซ้ายล่าง และแอฟริกาอยู่มุมขวาล่าง แสดงให้เห็นผู้เขียนแผนที่ไม่ได้ทำการสำรวจ แต่เขียนตามที่ได้ยินได้ฟังมาผสมกับตำนานการกำเนิดของโลกตามความเชื่อทางศาสนา คือทางศาสนาคริสต์ก็มีรูปอาดัม เอวา และงู
ทั้งยังแสดงแนวคิดของพุทธศาสนาไว้ด้วย คือแอ่งน้ำจากเขาพระสุเมรุ เป็นต้นน้ำของทางน้ำ 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำคงคา ไนล์ ไทกริส และยูเฟรติส คั่นด้วยแนวเขา 4 แนว ที่เป็นอาณาจักรของเงิน พลอย และคริสตัล ซึ่งนักภูมิศาสตร์ชาวโรมัน Pomponuis (ค.ศ.1937-1943) สันนิษฐานว่า เป็นอาณาจักรทองและอาณาจักรเงิน(Chryse and Argyre) ที่เรียกชื่อดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้แผนที่นี้จะไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่ได้บรรยายไว้ในแผนที่ "Turin" บอกความสำคัญของอาณาจักรทอง หมายถึงมลายา(Malaya) ตั้งอยู่ริมทะเล Erythrean เหมือนเป็นเกาะอยู่โพ้นทะเลตะวันออกของโลก ส่วนอาณาจักรเงิน อาจหมายถึง พม่า หรืออารข่าน(Burma or Arakan) ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตอีกว่า มีพื้นที่พม่าหรืออารข่านอยู่ แต่ยังไม่ปรากฏพื้นที่ประเทศไทย
กระทั่งเข้าสู่ยุคแผนที่โลกและแผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แผนที่โลกของ Beatus(ค.ศ.1483) จึงเริ่มปรากฏชื่อเมือง Nago(นคร-นครศรีธรรมราช)
แผนที่โลกเมื่อปรากฏพื้นที่ประเทศไทย
นักภูมิศาสตร์ท่านนี้ได้กล่าวถึงแผนที่โลกเมื่อปรากฏพื้นที่ประเทศไทยว่า แม้คำว่า SIAN เป็นคำที่ชาวจีนเรียกประเทศไทยมานาน แต่ชื่อนี้ได้ปรากฏในแผนที่โลก โดย Gerard Mer cator เป็นผู้เขียนขึ้น(ค.ศ.1569) ได้วางคำว่า SIAN ตรงบริเวณที่เป็นจังหวัดชุมพร และมีแม่น้ำ SIAN ตรงกับบริเวณที่เป็นแม่น้ำบางปะกงในปัจจุบัน
คำว่า "Brema" วางไว้ในบริเวณประเทศไทย แต่ในแผนที่เอเชีย(ค.ศ.1570) ของ Fernao Vaz Doura do วางคำว่า SIAN บริเวณประเทศไทยปัจจุบัน แผนที่โลกโบราณช่วงนี้ ผู้ค้นคว้าส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป ยังไม่มีข้อมูลอื่นๆ ของประเทศไทยมากนัก นอกจากทะเลสาบและเมืองเชียงใหม่(Chamai) ดังที่กล่าวไปแล้ว
แต่ที่มีชื่อเมืองปรากฏในระยะหลัง คือ Lugor หรือนครศรีธรรมราช ซึ่งตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า เป็นเมืองค้าขายสำคัญเมืองหนึ่งของอาณาจักรตามพรลิงค์ มีกำเนิดตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7-8 หรือคริสต์ศตวรรษที่ 2-3 มีอาณาเขตแผ่กว้างอย่างน้อยจากประจวบคีรีขันธ์ลงไปถึงมาเลเซีย(เกือบทั้งหมด) ในปัจจุบัน ชาวพื้นเมืองเรียกตนเองว่า "ชาวนคร" หรือ "เมืองคอน" พวกมลายูเรียกว่า "ลีกอ" หรือ "ลิกอร์" ทำให้ชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายเรียกเมืองนครศรีธรรมราชว่า "ลิกอร์" หรือ "ลุกอร์" (Ligor or Lugor)
อย่างไรก็ดี แผนที่เอเชียต่อมาของอับราฮัม ออเทรุส(Abraham Ortelius) นักแผนที่ชาวเบลเยียม ได้ใช้คำว่า SIAM วางบริเวณภาคกลางประเทศไทย และเป็นแผนที่ที่ใช้คำว่า SIAM เป็นครั้งแรก
กระนั้นก็ตาม ยังมีการใช้คำว่า SIAN อยู่ เช่น แผนที่โลก-อินเดีย โอเรียนเต็ล(ค.ศ.1570) และแผนผังกรุงศรีอยุธยาของออลลัน แมนนีเซน มันเลท(ค.ศ.1683) ใช้ชื่อแผนที่ IVDIA ov SIAN ส่วนแม่น้ำของประเทศไทย ใช้คำว่า "Menam R." ก่อนที่จะมีชื่อแม่น้ำ(บาง)เจ้าพระยาในเวลาต่อมา
แผนที่ประเทศไทย
นักภูมิศาสตร์ท่านนี้ได้สรุปว่า เพื่อให้รับกับแผนที่โลก แผนที่เอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แผนที่ระบุประเทศไทยหรือสยามไว้ชัดเจน คือแผนที่ SIAN เป็นแผนที่ระวางแรกที่เขียนโดย Lambert Andreas(ค.ศ.1596) ชาวเยอรมนี มีพื้นที่ประเทศไทยอยู่กลาง ล้อมรอบด้วยประเทศข้างเคียง ตั้งแต่อินเดีย พม่า กัมพูชา เกาะสุมาตรา แต่ไม่ปรากฏประเทศฟิลิปปินส์ หรือญี่ปุ่น
แผนที่นี้นับว่ามีข้อมูลใกล้เคียงกับข้อมูลในแผนที่โลกของ Gerard แต่มีการเปลี่ยนชื่อเมืองลูกอร์ เป็น Nacaon แทน และตำแหน่งของ SIAN อยู่บริเวณเหนืออ่าวไทยปัจจุบัน รวมทั้งเมืองปัตตานี(Patane) เพิ่มขึ้นมาอยู่เหนือเมืองกลันตัน(Calantan)
กระทั่งมาถึง Le Pere Placide นักภูมิศาสตร์ประจำราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เขียนแผนที่ SIAM ขึ้น เมื่อเอกอัครราชทูตเดอ โชมองต์ เดินทางกลับจากการเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช(ค.ศ.1685) แผนที่ที่เขียนมีลักษณะรวมทั้งตำแหน่งของชื่อตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น ชื่อประเทศใช้คำว่า SIAM จึงเป็นเหมือนต้นแบบของแผนที่สยามและประเทศไทยที่ปรากฏบนแผนที่โลกในเวลาต่อมา
แน่นอน แผนที่โลกปัจจุบันคงมิได้กำหนดชื่อประเทศกว่าร้อยประเทศไว้เพียงเท่านี้ ยังคงมีชื่อใหม่ๆ ปรากฏขึ้นไม่วันนี้หรือพรุ่งนี้ อย่างไรก็ดี มีข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ พบแผนที่ Town of Bangkok (ค.ศ.1828 หรือ พ.ศ.2371) หน้าตาสี่เหลี่ยมคล้ายบล็อค ลายเส้นทางน้ำเขียน Menam River แสดงพื้นที่ 2 ฝั่งเจ้าพระยา พระราชวัง วัดพระแก้ว เกาะรัตนโกสินทร์ ล้อมรอบด้วยคลอง 3 ชั้น คือ คลองคูเมือง คลองบางลำพู และคลองสามเสน นอกจากนี้แสดงมาตราส่วน เส้นบรรทัด ระบบไมล์ไว้ชัดเจน แผนที่นี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ "Early Mapping" โทมัส ซัวเร(Thomas Saurey) ได้นำมาตีพิมพ์ที่สิงคโปร์ ปี ค.ศ.1999(พ.ศ.2542) เกี่ยวกับเรื่องแผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส่วนชื่อผู้วาดนั้นไม่ได้ระบุไว้ นักวิชาการท่านนี้ได้สันนิษฐานว่าเป็นช่างเขียนพื้นเมืองสยาม หรือชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้ชีวิตในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แม้แผนที่กรุงเทพฯนี้ยังไม่เก่ามาก แต่เท่าที่ศึกษาและพบตอนนี้คิดว่าน่าจะเก่าที่สุดเวลานี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น