2553/01/30

"ชาติไทย" ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า (โสภา ชานะมูล)

ปัจจุบันเป็นยุคแห่งสื่อ ถ้ามีคำหนึ่งซึ่งนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ชอบใช้บ่อยๆ คำนั้นก็จะมีชีวิตขึ้นมา ทุกครั้งที่มันถูกใช้ในบทความหนึ่ง ความหมายจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย นักเขียนสมัยนี้จึงไม่ใช่หยิบจับแต่ละคำมา โดยอ้างอิงแค่พจนานุกรม แต่ยังต้องเข้าใจความหมายในเชิงบริบททางสังคมด้วย ปัจจุบันนักนิรุกติศาสตร์คงไม่ต้องลำบากลำบนค้นหาต้นกำเนิดคำจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพียงแค่ศึกษา "ชีวิต" ของคำยอดฮิต ผ่านหน้านิตยสาร หนังสือพิมพ์ แค่นั้นก็เรียนรู้อะไรได้หลายแล้ว

คำที่เราสนใจมากๆ เลยก็คือ "ปัญญาชน" (intelligentsia) ใครคือปัญญาชน ต้องมี requisite แค่ไหน ระดับการศึกษาละ คนทำงานศิลปะควรถูกจัดว่าเป็นปัญญาชนหรือเปล่า

อ่าน "ชาติไทย" ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า จบก็อดสงสัยไม่ได้ว่าอาจารย์โสภาใช้นิยามข้อไหนมากำหนดว่าใครเป็น หรือไม่เป็นปัญญาชน อย่างแรกต้องชมอาจารย์ ที่มีความเป็นกลางพอจะรวบรวมมาหมดตั้งแต่ปัญญาชนหัวก้าวหน้า อนุรักษนิยม กระทั่งบางบทยังพูดถึงปัญญาชนทหาร สรุปคือ ใครที่ออกมาแสดงความคิดทางหน้าหนังสือพิมพ์ หรือวิทยุ ก็คงจัดเป็นปัญญาชนได้ทั้งนั้น ซึ่งก็ไม่แปลก เอาเข้าจริง เมื่อก่อนอาจไม่ได้มีนิตยสาร หนังสือพิมพ์เกลื่อนบ้านเกลื่อนเมืองเหมือนสมัยนี้

อาจารย์โสภาไม่ได้แบ่งปัญญาชนตามระดับการศึกษา นักคิดที่ถูกยกมาใน "ชาติไทย" ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า ไม่ได้จบสูง หรือจบเมืองนอกเมืองนา มองในแง่ดีก็คือพวกเขาถูกประเมิณด้วยคุณวุฒิ ไม่ใช่เพียงวุฒิการศึกษา แต่ปัจจุบันยังจะยึดหลักอะไรแบบนี้ได้อยู่หรือเปล่า เพราะคนไทยรู้สึกว่าปัญญาชนไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาสูง เพียงแค่ขยันออกมาพูดอะไรในที่สาธารณะ ก็เลยเกิดเป็นค่านิยมขำๆ คือยกย่องคนที่การศึกษาไม่ค่อยสูง แต่กล้าออกมาแสดงความคิดเห็นอยู่เป็นประจำ และ(เหมือนกับ)รู้อะไรดีกว่าคนปกติ

ต้องเข้าใจว่าห้าสิบปีโลกมันเปลี่ยนแปลงไปไหนต่อไหน ในทางวิทยาศาสตร์ เป็นไม่ได้อีกแล้ว จะมีอัศวินม้าขาวผู้อยู่ดีๆ ค้นพบสูตรลับ หรือยาวิเศษด้วยตัวเอง เดี๋ยวนี้การค้นพบทุกอย่างออกมาจากหลังรั้วมหาวิทยาลัย คนสาธารณะบางคน ถ้าเขามีชีวิตอยู่เมื่อสมัยก่อนอาจถูกเรียกได้ว่าเป็น "ปัญญาชน" แต่ในสมัยนี้เรายังควรยกย่องเขาด้วยคำคำนี้หรือเปล่า ค่านิยมเช่นนี้ส่งผลได้ ผลเสียอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่าง คนทุกคนมีสิทธิพูดจู่โจมระบบทุนนิยม และตีความมันไปต่างๆ นานา (ยิ่งในโลกปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วย "เวที" เสียด้วย) แต่ปัญญาชนซึ่งสังคมควรจะรับฟังคือใครกันแน่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น