วงการนักโบราณคดีพากันตื่นเต้นกันยกใหญ่ หลังจากศ.ลี เบอร์เกอร์ มหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สแตรนด์ แอฟริกาใต้ พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณสายพันธุ์ใหม่ในถ้ำมาลาปา กลางพื้นที่หุบเขาสเติร์กฟอนทีน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของนครโยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศเมื่อปี 2537 ให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นมรดกโลก เนื่องจากขุดค้นพบซากโครงกระดูกมนุษย์ลิงเอปโบราณ หรือออสตราโลปิธิคัส อายุ 3.3 ล้านปี
ส่วนโครงกระดูกมนุษย์โบราณสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งค้นพบนี้ เชื่อว่าเป็นโครงกระดูกของเด็ก มีอายุราว 2 ล้านปี และอยู่ในสภาพที่เกือบสมบูรณ์ รวมทั้งกระดูกนิ้วมือ ซี่โครงกระดูกสันหลังและเชิงกราน ซึ่งจะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุว่า มนุษย์สายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวนี้เดิน 2 ขา หรือ 4 ขา ส่วนนิ้วมือนั้นจะเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่บ่งชี้ถึงระยะเวลาที่มนุษย์วิวัฒนาการมาจนสามารถถือและจับอุปกรณ์ทุ่นแรงยุคหินได้
ที่สำคัญคือโครงกระดูกนี้จะช่วยไขปริศนาลำดับการวิวัฒนาการที่หายไประหว่างลิงเอปก่อนกลายมาเป็นมนุษย์ในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้ามากที่สุดในการอธิบายทฤษฎีวิวัฒนาการมนุษย์ของวงการนักโบราณคดี
ศ.ฟิลลิป โตเบียส ผู้เชี่ยว ชาญด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สแตรนด์ กล่าวว่า เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่และน่าตื่นเต้นมาก เนื่องจากการค้นพบซากกระดูกของมนุษย์โบราณในสภาพที่มีกระดูกครบแทบทุกชิ้นหรือถึงขั้นสมบูรณ์แบบนั้นนับว่าหาได้ยากยิ่ง โดยตามปกติมักจะพบแค่ฟัน หรือชิ้นส่วนบางส่วนเท่านั้น การค้นพบนี้จะช่วยไขปริศนาลำดับวิวัฒนาการที่หายไปของมนุษย์จากออสตราโลปิธิคัสที่ถือกำเนิดขึ้นในแอฟริกาเมื่อ 3.9 ล้านปีก่อน กระทั่งวิวัฒนาการมาเป็นโฮโม ฮาบิลิส มนุษย์โบราณสายพันธุ์แรกของโลกซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อราว 2.5 ล้านปีก่อน
ด้านดร.ไซมอน อันเดอร์ดาวน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ กล่าวว่า การค้นพบลักษณะดังกล่าวจะสามารถช่วยให้นักโบราณ คดีมีความเข้าใจเกี่ยวกับลำดับการวิวัฒนาการมนุษย์ได้อย่างมากมาย
2553/04/20
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น