ก่อนอื่นต้องบอกว่า “10 ประเทศอากาศดีที่สุดในโลก” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงประเทศที่มีอากาศบริสุทธิ์หรือเป็นแหล่งโอโซน แต่เป็นประเทศที่มีสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการอพยพย้ายถิ่นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการย้ายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ย้ายไปใช้ชีวิตบั้นปลายหลังเกษียณ หรือเมื่อต้องการซื้อบ้านหลังที่สอง เป็นต้น
ทั้ง 10 ประเทศที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ มีสภาพอากาศโดยรวมที่ไม่แปรปรวน ไม่ร้อนหรือหนาวจัดจนเกินไป และไม่ใช่ประเทศที่อยู่ในเขตมรสุมที่มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี (แม้ว่าภายในประเทศนั้นๆ จะมีบางพื้นที่ ที่หนาวจัด ร้อนจัด หรือฝนตกชุก แต่ก็สามารถเลือกอยู่ในเมืองที่มีอากาศดีกว่าได้)
บทความนี้จัดทำขึ้นโดย “อินเตอร์ เนชั่นแนล ลีฟวิ่ง” ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านการใช้ชีวิตวัยเกษียณในต่างแดน ซึ่งได้ทำการสำรวจและนำมาเผยแพร่ให้สมาชิก ตลอดจนผู้ที่ต้องการย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศได้นำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา
สำหรับบางท่าน “มอลตา” อาจเป็นประเทศที่ไม่ค่อยคุ้นเคยหรือแทบไม่เคยนึกถึงซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะแม้แต่คนอเมริกันส่วนใหญ่ก็แทบไม่เคยได้ยินหรือรู้จักประเทศมอลตาเลย (ที่นั่นมีคนไทยอาศัยอยู่ และมีร้านอาหารไทย 2 ร้าน – ข้อมูลจากกระทรวงต่างประเทศ)
สภาพอากาศที่มอลตาถือว่าดีมากเมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป กล่าวคือ มีอุณหภูมิเฉลี่ย 21 องศาเซลเซียสในเวลากลางวัน มีแสงแดดเฉลี่ยวันละ 5.2 ช.ม. ไม่เว้นแม้กระทั่งในเดือนธันวาคม (ขณะที่หลายประเทศในแถบยุโรปกำลังมีหิมะตก หนักและต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวเหน็บ แต่มอลตากลับแทบไม่เคยได้สัมผัสหิมะเลย) อย่างไรก็ตาม มอลตาอาจมีฝนตกหนักบ้างบางช่วง แต่มักเกิดขึ้นเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
น่าเสียดายที่เกาะมอลตามีหาดทรายไม่กี่แห่ง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะบนเกาะมอลตามีกิจกรรมให้ทำมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อนซึ่งจะมีงานรื่นเริงให้ร่วมเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนาน และมีการจุดดอกไม้ไฟอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการดำน้ำและล่องเรือใบ มอลตาจะเป็นสวรรค์สำหรับคุณ แต่ถ้าใครไม่ค่อยปลื้มกีฬาทางน้ำก็ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ให้ทำอีกมากมาย อาทิ ตีกอล์ฟ ขี่ม้า แข่งวิ่ง ฯลฯ หรือถ้าชอบดูหนัง ฟังเพลงคลาสสิก ท่ามกลางบรรยากาศเก่าๆ แบบย้อนยุค ในเมืองหลวงของมอลต้าที่มีชื่อว่า “วัลเลตตา” ยังเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์เก่าแก่เป็นอันดับ 2 ของยุโรป ซึ่งที่นั่นจะมีการแสดงโอเปร่า ละครเวที ฉายภาพยนตร์ รวมถึงการแสดงดนตรี และบัลเล่ต์ ให้ชมกันอย่างจุใจตลอดช่วงเดือนตุลาคม-พฤษภาคม
2. สาธารณรัฐเอกวาดอร์
เอกวาดอร์ อยู่ทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ โดยตั้งอยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตร พรมแดนทางตอนเหนือจรดโคลัมเบีย ทางตะวันออกและทางใต้ติดกับประเทศเปรู และมีชายฝั่งทางตะวันตกติดมหาสมุทรแปซิฟิก
ด้วยความที่ตั้งอยู่บริเวณเส้น ศูนย์สูตร เอกวาดอร์ (ทั้งประเทศ) จึงได้รับแสงแดดแบบเต็มๆ ถึง 12 ช.ม. ต่อวัน และ 365 วันต่อปี แต่เนื่องจากเอกวาดอร์มีสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกัน 3 ลักษณะ กล่าวคือประกอบด้วย พื้นที่ๆ เป็นภูเขา ป่าฝน และพื้นที่แถบชายฝั่งทะเลแปซิฟิก ดังนั้นในแต่ละพื้นที่จึงมีสภาพอากาศที่แตกต่างกัน
ตัวอย่างเช่น เมืองหลวงของประเทศเอกวาดอร์ที่มีชื่อว่า “กิโต้” ซึ่งตั้งอยู่ในเซ็นทรัล วัลเล่ย์ และถูกโอบล้อมโดยแนวเขาแอนเดรีย (บนเทือกเขาแอนดีส) ทั้งทางทิศตะวันออกและตะวันตก โดยมีเส้นศูนย์สูตรพาดผ่านห่างไปทางตอนเหนือของเมืองเพียง 20 ไมล์ (32 ก.ม.) ทั้งยังอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 9,350 ฟุต (2,849 เมตร) [เป็นเมืองหลวงที่อยู่สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก] ทำให้กิโต้มีสภาพอากาศเหมือนอยู่ในฤดูใบไม้ผลิตลอดทั้งปี โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ประมาณ 24 องศาเซลเซียสในเวลากลางวัน และ 10-13 องศาเซลเซียสในช่วงเวลากลางคืน
อากาศที่เมืองกิโต้นั้นค่อนข้างแห้ง และไม่มียุง โดยปกติในช่วงเวลากลางวันคุณสามารถออกไปเดินเล่นข้างนอกโดยสวมเพียงเสื้อยืด กางเกงขาสั้น แต่บางวันอาจถึงกับต้องสวมเสื้อกันหนาวขนสัตว์ หากมีเมฆหนาปกคลุมจนบดบังแสงอาทิตย์ไปทั่วทั้งเมือง (อย่าลืมว่ากิโต้เป็นเมืองหลวงที่อยู่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะใช้ชีวิตบนความสูงระดับเดียวกับเมฆ) ดังนั้น หากใครชื่นชอบสภาพอากาศที่ค่อนข้างอบอุ่น ก็ต้องไปอาศัยอยู่ในเมืองแถบชายฝั่งทะเล
3. สาธารณรัฐเม็กซิโก
เม็กซิโกตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ทิศเหนือติดสหรัฐฯ ทิศใต้ติดกัวเตมาลาและเบลิซ ทิศตะวันออกติดอ่าวเม็กซิโกและทะเลแคริบเบียน ส่วนทิศตะวันตกติดมหาสมุทรแปซิฟิกและอ่าวแคลิฟอร์เนีย
ประเทศเม็กซิโกมีสภาพอากาศที่หลากหลาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสูงของพื้นที่ ตลอดจนกระแสลมและน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก… พื้นที่ บริเวณชายฝั่งของประเทศเม็กซิโกจะมีสภาพภูมิอากาศแบบเขตร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณแหลมยูกาตังและพื้นที่ลุ่มต่ำทางตอนใต้ของประเทศ ส่วนพื้นที่ๆ อยู่บนความสูงเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900 เมตรขึ้นไปจะมีสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็น
ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยของเม็กซิโกจะอยู่ที่ประมาณ 40 นิ้ว และในบางช่วงของปีพื้นที่บริเวณอ่าวเม็กซิโก รวมถึงบริเวณชายฝั่งทะเลแคริบเบียนและแปซิฟิกอาจมีพายุเฮอร์ริเคนเกิดขึ้น ได้ ส่วนในบางพื้นที่แถบบาฮา และทางตอนเหนือของประเทศกลับแทบไม่มีฝนตกเลยตลอดทั้งปี
4. สาธารณรัฐโคลัมเบีย
โคลัมเบีย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ทิศเหนือติดทะเลแคริบเบียน ทิศตะวันออกติดเวเนซุเอลาและบราซิล ทิศใต้ติดเปรูและเอกวาดอร์ ทิศตะวันตกติดมหาสมุทรแปซิฟิกและปานามา
เนื่องจากประเทศโคลัมเบีย ตั้งอยู่ ใกล้เส้นศูนย์สูตร สภาพอากาศโดยทั่วไปจึงมีลักษณะร้อนชื้นและมีอุณหภูมิคงที่ตลอดทั้งปี หากจะมีอุณหภูมิแตกต่างไปจากเดิมบ้าง (เพียงเล็กน้อย) ก็มีสาเหตุอันเนื่องมาจากฝนตกนั่นเอง
5. ประเทศออสเตรเลีย
ออสเตรเลีย เป็นประเทศที่ประกอบด้วยแผ่นดินหลักของทวีปออสเตรเลีย เกาะแทสเมเนีย รวมถึงเกาะอื่นๆ ในมหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิก และมหาสมุทรใต้ ประเทศนี้มีสภาพอากาศที่หลากหลาย แต่เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเป็นทะเลทรายที่แห้งแล้งและทุรกันดาร (มีขนาดทะเลทรายรวมกันใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา – วิกิพีเดีย) พื้นที่ราว 40% จึงถูกปกคลุมด้วยเนินทราย
คงมีเพียงดินแดนทางตอนใต้ด้านตะวันออกและตะวันตก (มุมล่างขวามือสีฟ้าของแผนที่ประเทศ ) เท่านั้นที่อากาศเย็นและมีผืนดินที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ส่วนทางตอนบนของประเทศมีสภาพอากาศแบบเขตร้อน (สีเขียว) บางพื้นที่เป็นป่าฝน ขณะที่บางส่วนมีอากาศร้อนชื้นแบบศูนย์สูตร (สีน้ำตาล) นอกนั้นเป็นเขตทุ่งหญ้า (สีเหลือง) และทะเลทราย (สีส้ม) อันกว้างใหญ่ไพศาล
ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณ ชายฝั่งทางด้านตะวันออกซึ่งมีสภาพอากาศค่อนข้างเย็น และอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ส่วนใหญ่ของออสเตรเลียมีแดดออกโดยเฉลี่ยมากกว่า 3,000 ช.ม./ปี โดยในช่วงฤดูร้อน (ธ.ค.-มี.ค.) ที่นั่นจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 29 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงฤดูหนาว (มิ.ย.-ส.ค.) จะมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยที่ 13 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับทวีปอื่นๆ จะพบว่าออสเตรเลียเป็นทวีปที่แห้งแล้งมาก พื้นที่กว่า 80% ของประเทศมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า 600 ม.ม.ต่อปี คงมีเพียงทวีปแอนตาร์กติกาเท่านั้น ที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าทวีปออสเตรเลีย จึงเหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ที่ชื่นชอบอากาศเย็น และไม่ชอบความเปียกชื้นเฉอะแฉะของฤดูฝน
2553/09/29
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น