2553/09/11

"ชิคุนกุนยา"โรคร้ายสายพันธ์ใหม่ที่มากับหน้าฝน

ระบาดอีกแล้ว!!! โรคที่มาพร้อมกับยุง.... เมื่อบอกอย่างนี้หลายคนคงนึกถึงโรคไข้เลือดออก ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ไข้มาเลเรีย ที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค แต่ที่น่าตกใจเพราะตอนนี้ไม่ได้มีเพียงแค่นี้เท่านั้นแต่กลับมีโรคที่มีชื่อแปลกๆ ว่า "ชิคุนกุยา" มาทำความรำคาญและแพร่ระบาดหนักอยู่ในภาคใต้ของประเทศเราอยู่

สถานการณ์ล่าสุด!!! หลังจากพบผู้ป่วยที่มีอาการเหมือนติดเชื้อไวรัสชิคุกุนยา ใน 2 จังหวัดภาคใต้ คือจังหวัดนราธิวาสและปัตตานี ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค เร่งส่งเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งทีมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่และเฝ้าระวังโรคดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อหาทางยุติการแพร่ระบาดของโรคนี้

... เชื่อได้เลยว่าหลายคนยังคงไม่คุ้นหูกับโรคชิคุนกุนยา ไม่รู้ว่ามันเป็นโรคอะไร???? บ้างก็แตกตื่นคิดว่าเป็นโรคสายพันธ์ใหม่ แต่จริงๆ แล้วโรคนี้มีมานานแล้ว โดยถิ่นกำเนิดแรกของมันอยู่ที่ทวีปอาฟริกา และแพร่ระบาดไปหลายประเทศๆ ทั่วโลก หนึ่งในนั้นก็รวมประเทศไทยของเราด้วย ซึ่งตรวจพบโรคชิคุนกุนยาครั้งแรกพร้อมกับที่มีไข้เลือดออกระบาดและเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชีย

น.พ.หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาบอกถึงโรคดังกล่าวว่า "ชิคุนกุนยา" เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่ ซึ่งอาการที่เด่นชัดในผู้ใหญ่คืออาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ (migratory polyarthritis) อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อก ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก ที่อาจพบ tourniquet test ให้ผลบวก และจุดเลือดออก (petichiae) บริเวณผิวหนังได้

สาเหตุการติดต่อ!! โรคนี้ติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุงและเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลายเมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัดทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้

ระยะการฟักตัว!!! โดยทั่วไปจะมีการฟักตัวประมาณ 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยประมาณ 2-3 วัน ระยะติดต่อคือระยะไข้สูงประมาณวันที่ 2-4 ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก สำหรับอาการและอาการแสดง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกหรือข้อ ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หรือมีเลือดออกตามผิวหนัง และอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว

แม้อาการนำของโรคชิคุนกุนยา จะคล้ายโรคไข้เลือดออกหรือหัดเยอรมัน แต่ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก หรือเลือดออกมาก โรคชิคุนกุนยาพบมากในฤดูฝน และทุกกลุ่มอายุ ซึ่งต่างจากโรคไข้เลือดออกและหัดเยอรมันที่มักพบในผู้อายุน้อยกว่า 15 ปี

ดูแล้วเหมือนมันอาจจะไม่ค่อยรุนแรงเหมือนโรคไข้เลือดออกสักเท่าไหร่ แต่ถึงแม้มันจะไม่สามารถคร่าชีวิตคนเราไปได้ แต่เราก็ควรที่จะระมัดระวังเอาไว้ โดยเฉพาะลูกเด็กเล็กแดงที่อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ง่าย อีกทั้งช่วงนี้ฝนตกบ่อยทำให้มีน้ำขัง เหมาะแก่การเจริญเติบโตของยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรคอีกด้วย

ส่วนวิธีป้องกันนั้น!!! ถึงแม้ทุกวันนี้ยังไม่ยาหรือวัคซีนตัวใดที่ใช้รักษาได้โดยตรงทั้งโรคไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยา ดังนั้นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ถ้ามีไข้สูง ก็ให้ยาลดไข้ หรือลดอาการปวดข้อ และพักผ่อนให้เพียงพอก็สามารถบรรเทาอาการไปได้ แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันการแพร่พันธุ์ของยุงเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ต้องหมั่นตรวจดูที่เก็บกักน้ำ ไม่ว่าจะเป็น บ่อ กะละมัง เพราะเป็นแหล่งที่ยุงออกไข่ จึงจำเป็นต้องมีฝาปิด ที่ใดที่จำเป็นต้องมีน้ำขังอยู่ก็ให้ใส่ทรายอะเบทลงไปเพื่อป้องกันการวางไข่ และควรเลี้ยงปลาในอ่างที่ปลูกต้นไม้ หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เพราะปลาจะกินลูกน้ำเป็นอาหาร

แต่นอกเหนือจากการป้องกันการแพร่พันธ์ของยุงแล้ว ตัวเราเองก็ต้องป้องกันตัวเราไม่ให้ถูกยุงกัดด้วย ควรติดมุ้งลวดในบ้าน หรือทายากันยุงขณะทำงานและออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัดตอนกลางวัน และที่สำคัญต้องเฝ้าสังเกตคนในบ้านว่ามีไข้และอาการคล้ายกับโรคชิคุนกุนยาหรือไม่ หากมีก็ให้รีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน

ถึงแม้ว่าวันนี้ โรคชิคุนกุนยาจะเป็นโรคใหม่ที่มีชื่อไม่คุ้นหูนัก แต่หากปล่อยให้แพร่ระบาดไปสู่วงกว้างอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจได้ ... วันนี้เพียงป้องกันยุงลาย นอกจากจะป้องกันไข้เลือดออกแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคชิคุนกุนยาได้ด้วยนะค่ะ

เรื่องโดย : ณัฐภัทร ตุ้มภู่ Team Content www.thaihealth.or.th

รู้เรื่อง....โรคชิคุนกุนยา


ลักษณะโรค



โรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีอาการคล้ายไข้เดงกี แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก


สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) ซึ่งเป็น RNA Virus จัดอยู่ใน genus alphavirus และ family Togaviridae มียุงลาย Aedes aegypti, Ae. albopictus เป็นพาหะนำโรค

วิธีการติดต่อ

ติดต่อกันได้โดยมียุงลาย Aedes aegypti เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้

ระยะฟักตัว

โดยทั่วไปประมาณ 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยประมาณ 2-3 วัน

ระยะติดต่อ

ระยะไข้สูงประมาณวันที่ 2-4 เป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก

อาการและอาการแสดง

ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายและอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง (conjunctival injection) แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่ ในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัดคืออาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ (migratory polyarthritis) อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อก ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก อาจพบ tourniquet test ให้ผลบวก และจุดเลือดออก (petichiae) บริเวณผิวหนังได้

ความแตกต่างระหว่างDF/DHF กับการติดเชื้อ chikungunya

1. ใน chikungunya มีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างฉับพลันกว่าใน DF/DHF คนไข้จึงมาโรงพยาบาลเร็วกว่า

2. ระยะของไข้สั้นกว่าในเดงกี ผู้ป่วยที่มีระยะไข้สั้นเพียง 2 วัน พบใน chikungunya ได้บ่อยกว่าใน DF/DHF โดยส่วนใหญ่ไข้ลงใน 4 วัน

3. ถึงแม้จะพบจุดเลือดได้ที่ผิวหนัง และการทดสอบทูนิเกต์ให้ผลบวกได้ แต่ส่วนใหญ่จะพบจำนวนทั้งที่เกิดเองและจากทดสอบน้อยกว่าใน DF/DHF

4. ไม่พบ convalescent petechial rash ที่มีลักษณะวงขาวๆใน chikungunya

5. พบผื่นได้แบบ maculopapular rash และ conjunctival infection ใน chikungunya ได้บ่อยกว่าในเดงกี

6. พบ myalgia / arthralgia ใน chikungunya ได้บ่อยกว่าในเดงกี

7. ใน chikungunya เนื่องจากไข้สูงฉับพลัน พบการชักร่วมกับไข้สูงได้ถึง 15% ซึ่งสูงกว่าในเดงกีถึง 3 เท่า

ระบาดวิทยาของโรค

การติดเชื้อ Chikungunya virus เดิมมีรกรากอยู่ในทวีปอาฟริกา ในประเทศไทยมีการตรวจพบครั้งแรกพร้อมกับที่มีไข้เลือดออกระบาดและเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชีย เมื่อ พ.ศ. 2501 โดย Prof.W McD Hamnon แยกเชื้อชิคุนกุนยา ได้จากผู้ป่วยโรงพยาบาลเด็ก กรุงเทพมหานคร

ในทวีปอาฟริกามีหลายประเทศพบเชื้อชิคุนกุนยา มีการแพร่เชื้อ 2 วงจรคือ primate cycle (rural type) (คน-ยุง-ลิง) ซึ่งมี Cercopithicus monkeys หรือ Barboon เป็น amplifyer host และอาจทำให้มีผู้ป่วยจากเชื้อนี้ประปราย หรืออาจมีการระบาดเล็กๆ (miniepidemics) ได้เป็นครั้งคราว เมื่อมีผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเข้าไปในพื้นที่ที่มีเชื้อนี้อยู่ และคนอาจนำมาสู่ชุมชนเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มียุงลายชุกชุมมาก ทำให้เกิด urban cycle (คน-ยุง) จากคนไปคน โดยยุง Aedes aegypti และ Mansonia aficanus เป็นพาหะ

ในทวีปเอเซีย การแพร่เชื้อต่างจากในอาฟริกา การเกิดโรคเป็น urban cycle จากคนไปคน โดยมี Ae. aegypti เป็นพาหะที่สำคัญ ระบาดวิทยาของโรคมีรูปแบบคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อที่นำโดย Ae. aegypti อื่นๆ ซึ่งอุบัติการของโรคเป็นไปตามการแพร่กระจายและความชุกชุมของยุงลาย หลังจากที่ตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย ก็มีรายงานจากประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ได้แก่ เขมร เวียตนาม พม่า ศรีลังกา อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

โรคนี้จะพบมากในฤดูฝน เมื่อประชากรยุงเพิ่มขึ้นและมีการติดเชื้อในยุงลายมากขึ้น พบโรคนี้ได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งต่างจากไข้เลือดออกและหัดเยอรมันที่ส่วนมากพบในผู้อายุน้อยกว่า 15 ปี ในประเทศไทยพบมีการระบาดของโรคชิคุนกุนยา 6 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2531 ที่จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ. 2534 ที่จังหวัดขอนแก่นและปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. 2536 มีการระบาด 3 ครั้งที่จังหวัดเลย นครศรีธรรมราช และหนองคาย

การรักษา

ไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง (specific treatment) การรักษาเป็นการรักษาแบบประคับประคอง (supportive treatment) เช่นให้ยาลดอาการไข้ ปวดข้อ และการพักผ่อน

ที่มา : สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข


ทรายอะเบท กำจัดยุงลาย


ทรายอะเบทเป็นชื่อทางการค้าซึ่งความจริงแล้วทรายอะเบทเป็นเม็ดทรายที่ถูกเคลือบด้วยสารเคมี ในปัจจุบันเราจะใช้คำว่าทรายกำจัดลูกน้ำยุงลายหรือทรายเคมีฟอส แทนคำว่า ทรายอะเบท สารเคมีฟอสเป็นสารเคมีสังเคราะห์โดยมีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบสำคัญ สารเคมีฟอสออกพิษรุนแรงแรงต่อลูกน้ำของยุง หรือแมลงหวี่ เพราะฉะนั้นเราจึงใช้คุณสมบัติด้านนี้ของสารเคมีฟอสในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย สารนี้มีการผลิตได้หลายรูปแบบ เช่น ผลิตในรูปแบบน้ำ ผงหรือเป็นเม็ด

แต่ที่นิยมใช้มากที่สุดคือการนำสารเคมีฟอสมาเคลือบเม็ดทรายที่เรียกว่าทรายทรายเคมีฟอส หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ทรายอะเบท ซึ่งส่วนใหญ่เม็ดทรายที่เคลือบมีสารออกฤทธิ์ 1% หรือ 2% เวลาใช้จะต้องนำไปใส่ในน้ำ อัตราส่วนการใช้ คือ ทรายอะเบท 1 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร โดยการคำนวณเปอร์เซ็นต์แยกต่างหาก ซึ่งส่วนการใช้ทรายอะเบทจะมีส่วนปรากฏอยู่ในแต่ละซอง

ที่มา: พ.ญ.มนทิรา ทองสาริ นายแพทย์ 9 วช.ด้านเวชกรรมป้องกัน รักษาการผู้อำนวยการกองควบคุมโรค สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น