วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวัน "ปิยมหาราช" จะมีพิธีวางพวงมาลาและถวายบังคมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงประกาศ “เลิกทาส” อันเป็นรากฐานการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย พระองค์ทรงปฏิรูปและพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น การสาธารณสุข การศึกษา การต่างประเทศ และการคมนาคม เป็นต้น ตลอดจนนำพาประเทศให้รอดพ้นจากการล่าอาณานิคมพ้นในการเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ โดยพระองค์ทรงยอมสูญเสียดินแดนบางส่วนเพื่อรักษาเอกราชของเราเอาไว้ นอกจากนี้พระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มและวางแผนให้โครงสร้างของสังคมไทย มีความทันสมัยทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศที่เจริญแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำพิธีเปิดพระบรมรูปทรงม้าในงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ในวโรกาสที่รัชกาลที่ 5 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 40 ปี เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2451 ซึ่งประชาชนทั่งประเทศได้พร้อมใจกันสร้างพระบรมรูปทรงม้าอันสง่างาม พร้อมด้วยการเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า “ สมเด็จพระปิยมหาราช ” สร้างเป็นเครื่องประกาศพระเกียรติคุณ และเพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณ
พระบรมรูปทรงม้าหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ทรงเครื่องยศจอมพลทหารบก เสด็จประทับบนม้าพระที่นั่งวางบนแท่นหินอ่อน หากท่านไปยืนด้านหน้าจะมีจารึกบนแผ่นโลหะประดับสรรเสริญพระเกียรติคุณของพระองค์ จะพบคำว่า “ปิยมหาราช” ปรากฏอยู่เป็นหลักฐาน ซึ่งมีความหมายคือ พระราชาอันเป็นที่รักยิ่งแห่งราษฎร และในปีนี้ (พ.ศ. 2551) เป็นโอกาสที่เป็นมงคลได้เวียนมาครบรอบ 100 ปี พระบรมรูปทรงม้า บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้นำภาพตราไปรษณียากรชุดพระบรมรูปทรงม้า ชนิดราคา 2 บาท ซึ่งเป็นตราไปรษณียากรที่ระลึกพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชสมบัติยาวนานยิ่งกว่าบูรพกษัตริย์องค์อื่นๆ ในพระราชพงศาวดารแต่ก่อนมาทุกพระองค์ มาพิมพ์ลงบนตราไปรษณียากร
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพในวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ตรงกับ เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู ณ พระตำหนัก ตึกด้านหลังองค์พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชการที่ 4) กับสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี พระองค์ทรงได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีทั้งด้านอักษรศาสตร์ โบราณราชประเพณี วิชาการสงคราม และการปกครอง ทั้งยังทรงใฝ่พระทัย ศึกษาพระธรรมวินัย เมื่อมีพระชนมายุ 15 พรรษาทรงได้รับเลื่อนยศขึ้นเป็น กรมขุนพินิจประชานาถ ต่อมา สมเด็จพระราชบิดา ประชวรสวรรคต ด้วยโรคไข้ป่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิจประชานาถจึงได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2411 ขณะนั้นพระองค์ทรงมีชนมายุย่างเข้า16 พรรษาทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ตลอดระยะเวลา 42 ปีที่ทรงครองราชย์ ได้ทรงพัฒนาสยามประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทุกวิถีทางอาทิเช่น ด้านการปกครอง การศึกษา การสาธารณูปโภค การต่างประเทศ และ เศรษฐกิจ เนื่องจากทรงเอาพระทัยใส่ในความเป็นอยู่ของประชาราษฎร ด้วยการเสด็จออกไปตรวจราชการ พบปะประชาชน ข้าราชการเสมอๆ นอกจากนั้นทรงเสด็จไปต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ชวา พม่า อินเดีย ตลอดจนถึงยุโรปในหลายประเทศ ทำให้ประเทศไทยได้เป็นที่รู้จักยอมรับและของนานาประเทศ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง ครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 ในพระชนมายุ 20 พรรษา ทรงมีพระมเหสีและเจ้าจอมรวม 92 พระองค์ ทรงมีพระโอรสและพระราชธิดา รวมทั้งสิ้น 77 พระองค์ สำหรับพระมเหสีที่สำคัญได้แก่
1. สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตนพระบรมราชเทวี (อัครมเหสีองค์แรก) หรือ สมเด็จพระนางเรือล่ม สิ้นพระชนม์เพราะเรือร่ม ขณะกำลังทรงพระครรภ์ 5 เดือนพร้อมกับพระธิดาที่มีพระชนมายุเพียง 2
2. สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (อัครมเหสีองค์ที่ 2) พระองค์ก็คือสมเด็จย่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลปัจจุบัน
3. สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงเป็นพระชนนี ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระปรีชาสามารถด้านวรรณกรรม ทั้งกวีและนักแต่งหนังสือ พร้อมทั้งมีความสามารถแต่งโครง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร้อยแก้ว รัชกาลที่ 5 ทรงมีผลงานพระราชนิพนธ์ เช่น พระราชพิธี 12 เดือน ไกลบ้าน พระราชวิจารณ์ เงาะป่า ลิลิตนิทราชาคริต เสด็จประพาสต้น
กาพย์เห่เรือ ประชุมโคลงสุภาษิต เป็นต้น กวีในรัชสมัยนี้อาทิเช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระยาศรีสุนทรโวหาร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชาพร ฯลฯ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประชวรพระวักกะ (ไต) พิการ วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 พระองค์ได้เสด็จสวรรคต รวมพระชนอายุ 57 พรรษา ทรงเสวยราชย์ 42 ปี พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ยิ่งใหญ่ของแผ่นดินสยาม ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณสุดคณานับทั้งประโยชน์ สุข ความเจริญรุ่งเรือง นำชาติให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ พระคุณสุดล้นที่จะพรรณนาจากใจของประชาชนชาวไทยได้หมด พระองค์จึงเป็นที่รักยิ่งของราษฎร
พระราชกรณียกิจที่สำคัญ
ด้านการปกครอง : เกิดการปฏิรูประเบียบวิธีปกครองให้ทันสมัย ดังนี้
1. ตั้งสภาแผ่นดิน 2 สภา คือสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาและคำคิดเห็นต่างๆ และอีกสภาคือ สภาองคมนตรี ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาราชการส่วนพระองค์และปฏิบัติราชการต่างๆ ตามพระราชดำริ
2. ตั้งกระทรวงขึ้น 12 กระทรวง เพื่อให้การบริหารส่วนราชการสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและปริมาณของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น
3. ยกเลิกการจัดเมืองเป็นชั้นเอก โท ตรี จัตวา เปลี่ยนเป็นการปกครองแบบเทศาภิบาล คือรวมหัวเมืองหลายเมืองเข้าเป็นมณฑล
4. ทรงปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลให้ทันสมัยและขจัดสิทธิสภาพนอกอาณาเขต มีกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบอย่างแท้จริง ทรงประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญาซึ่งถือเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทย ทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายอีกด้วย
5. ให้จัดการทหารตามแบบแผนของยุโรป และวางกำหนดการเกณฑ์ทหารเข้าเป็นทหาร แทนการใช้แรงงานบังคับไพร่ตามประเพณีเดิม ทรงจัดตั้งโรงเรียนการทหาร คือ โรงเรียนรายร้อยพระจุลจอมเกล้าขึ้นและ จัดตั้งตำรวจภูธร ตำรวจนครบาล อีกด้วย
6. การเลิกทาส พระองค์ทรงใช้วิธีการอย่างละมุนละม่อมในการเลิกทาส มิให้ทั้งนายและตัวทาสเองได้รับผลเสียและไม่พึงพอใจ ทรงดำเนินการเลิกทาสอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพระองค์ทรงเริ่มจากการจัดระเบียบสังคมเสียใหม่ให้มีการใช้แรงงานจ้าง ทหารประจำการหรือทหารอาชีพแทนการเกณฑ์แรงงาน มีการตราพระราชบัญญัติทหารหลายฉบับ และประกาศใช้ พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124 โดยกำหนดให้ไพร่ที่มีอายุ 18 - 20 ปีต้องเข้ารับการคัดเลือกเป็นทหารและประจำการมีกำหนดระยะเวลา 2 ปี การประกาศใช้พระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารนี้ นับเป็นการยกเลิกระบบไพร่หรือการเลิกทาสอย่างเป็นทางการ ไพร่จึงมีสถานะเป็นคนสามัญ เป็นแรงงานอิสระที่มีศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิในฐานะมนุษย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การเลิกทาสได้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2417 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2448 จึงเลิกระบบทาสได้สำเร็จ และได้ออกเป็นพระราชบัญญัติทาส รศ. 128
เป็นเวลานานกว่าสามสิบปี พระองค์ทรงพระอุตสาหะจัดการในเรื่องนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ ดำเนินการได้เรียบร้อย โดยมิได้เสียเลือดเนื้อหรือเกิดการเดือดร้อนประการใด พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ย่อมยังประโยชน์ให้แก่ชาวไทยและประเทศชาติเป็นอเนกประการ
ด้านการศึกษา : พระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงทรงปฏิรูปการศึกษาโดยให้วัดร่วมมือกับรัฐจัดตั้งโรงเรียนเพื่อสอนความรู้อย่างเป็นระบบแบบแผนที่ทันสมัย คือให้มีสถานที่เล่าเรียน มีครูสอนตามเวลาที่กำหนด และให้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นพระบรมมหาราชวัง มีเป้าหมายเพื่อ การเรียน การสอนในการฝึกหัดกุลบุตรของบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นสูงที่ถวายตัวเพื่อรับราชการโรงเรียนเหล่านี้ได้แก่ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ใน พ.ศ. 2427 ทรงได้จัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรแห่งแรกที่วัดมหรรณพาราม และในเวลาต่อมาก็ได้ทรงตั้ง กรมศึกษาธิการ และกระทรวงธรรมการ (ปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการ) ตามลำดับ ทำให้การศึกษาขยายสามารถขยายไปทั่วราชอาณาจัก ทำให้ประชนชนมีการศึกษามากขึ้น
ด้านการสาธารณสุข : พระองค์ทรงนำวิทยาการด้านการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาปรับใช้ดำเนินการ ปรับปรุงการแพทย์ด้านต่างๆ เช่น การจัดตั้งสถานพยาบาล การผลิตบุคลากรทางการแพทย์ การผลิตยา การป้องกันโรคระบาด รวมทั้งการจัดองค์กรให้ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในด้านการสาธารณสุข
มีพระราชดำริจะจัดตั้งโรงพยาบาล ให้ทันสมัยเหมือนในต่างประเทศ กำหนดสถานที่ก่อสร้างคือบริเวณพระราชวัง ต่อมาพระราชทานนามว่า “โรงศิริราชพยาบาล ” นับเป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของประเทศ และได้ตั้งกรมพยาบาลขึ้นในปีเดียวกันนั้นใน พ.ศ. 2429 ต่อมาในพ.ศ. 2432 โปรดให้ตั้ง โรงเรียนสอนวิชาแพทย์ ขึ้นวิชาที่ตั้งใจสอนเป็นสำคัญคือ วิชาศัลยกรรมมี หมอจอร์จ แมก ฟาร์แลนด์ ( George Mc. Farland ) เป็นผู้สอน
เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งที่ได้ทรงจัดทำขึ้นคือ กฏหมายลงโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการอนามัยของประชาชน เช่น ความผิดในการปลอมปนเครื่องอาหาร เครื่องยา การทิ้งของโสโครกในเขตชุมชน การขายสุราให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี และออกประกาศห้ามการสูบฝิ่น และการผสมฝิ่นเป็นยาในพระราชอาณาจักร ออก พระราชบัญญัติกำหนดโทษผู้ทำฝิ่นเถื่อน และในที่สุดได้ทรงยกเลิกโรงฝิ่นในกรุงเทพฯ กว่า 500โรง ในพ.ศ. 2453 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชสมัยของพระองค์ ทรงเล็งเห็นสุขภาพอนามัยประชาชนซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างยิ่งในการปฏิรูปบ้านเมืองอีกด้วย
ด้านศาสนา : ทรงโปรดให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ร.ศ.121นับเป็นพระราชบัญญัติ
ปกครองฉบับแรกของคณะสงฆ์ของไทย เพื่อให้การปกครองสงฆ์เป็นไปอย่างมีระเบียบ กำหนดให้สมเด็จพระสังราชเป็นประมุขและเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดทางฝ่ายสงฆ์ พร้อมทั้งกำหนดให้มีมหาเถรสมาคม เป็นองค์การปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์อีกด้วย นอกจากนี้ ทรงโปรดให้จัดพิมพ์หนังสือพระไตรปิฎกขึ้นแทนการจารึกลงในใบลาน นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและของโลกที่ได้มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยระบบการพิมพ์สมัยใหม่ เมื่อพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้วได้พระราชทานไปตามวัดและห้องสมุด และให้มีงานฉลองพร้อมกับงานพระราชพิธีรัชฎาภิเษก เนื่องในโอกาสทรงเสวยราชย์ครบ 25 ปีอีกด้วย
วัดเบญจมบพิตรในสมัยรัชกาลที่๕ เมื่อกำลังมีงาน ขณะนั้นพระอุโบสถยังสร้างไม่เสร็จ
ด้านเศรษฐกิจ : ทรงยกเลิกการเก็บภาษีแบบเก่า ปรับปรุงระบบเก็บภาษีใหม่โดยทรงจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์เป็นสำนักงานกลาง ต่อมายกฐานะเป็นกระทรวงการคลัง เมื่อ พ.ศ.2435 ทรงทำนุบำรุงการทำมาหากินของราษฎร เช่น จัดตั้งกรมทดน้ำ เมื่อ พ.ศ. 2425 เพื่อช่วยให้การทำนาได้ผลดียิ่งขึ้น ยังมีการจัดตั้งกรมป่าขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2439 ทรงโปรดให้ทำงบประมาณแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อรักษาดุลภาพและความมั่นคง
ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร : ในปี พ.ศ. 2426 ทรงจัดตั้งกรมไปรษณีย์ขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2433 ทรงให้สร้างทางรถไฟเป็นครั้งแรก เพื่อส่งเสริมให้การค้าและเศรษฐกิจขยายตัวมากยิ่งขึ้น
ทางรถไฟสายแรก คือเส้นทางระหว่าง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา สายต่อ ๆ ไปที่โปรดให้สร้างขึ้นในภายหลังคือ สายเพชรบุรี สายฉะเชิงเทรา สายเหนือเปิดใช้ถึงชุมทางบ้านดารา จังหวัดอุตรดิตถ์ ให้สัมปทานเดินรถรางและรถไฟในกรุงเทพ ฯ สมุทรปราการ กับรถไฟในแขวงพระพุทธบาท ตลอดจนจัดการเดินรถไฟระหว่างกรุงเทพ ฯ ต่อจากนั้นก็ได้มีการสร้างทางรถไฟไปยังภูมิภาคต่างๆ นอกจากนี้ทรงให้ตัดถนนขึ้นหลายสายเช่น ถนนเยาวราช ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก ทรงให้ตั้งบริษัทรถรางไทย จัดการเดินรถรางขึ้นในพระนครเพื่อให้ประชาชนได้เดินทางไปมาสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และสร้างสะพานข้ามคลองเช่น สะพานผ่านพิภพลีลา สะพานผ่านฟ้าลีลาศ สะพานมัฑวานรังสรรค์ เป็นต้น
ด้านการต่างประเทศ : พระองค์ทรงเสด็จเยือนต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ อินเดีย เป็นต้น การเสด็จต่างประเทศครั้งสำคัญได้แก่การเสด็จยุโรปสองครั้งคือ ครั้งที่แรก ในปี พ.ศ. 2440 ทรงใช้เวลานานถึง 9 เดือนในการเสด็จครั้งนี้ เสด็จไปเยี่ยมซาร์ นิโคลาสที่ 2 จักพรรดิแห่งรัสเซีย และเสด็จไปอีกหลายประเทศในยุโรป ทรงได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติเป็นอย่างดี ครั้งที่สอง ในปี 2450 ได้เสด็จเยือนยุโรปอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ทรงไปเพื่อพักผ่อนพระราชอิริยาบถและรักษาพระองค์ตามคำแนะนำของแพทย์ ในระหว่างที่เยือนยุโรปทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ “ไกลบ้าน ” ในรัชกาลนี้ได้ทรงเริ่มแต่งตั้ง อัครราชทูตประจำในประเทศต่างๆ ทำให้มีประสิทธิภาพทางด้านการทูตมากขึ้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ที่ได้รับสมัญญานามมหาราช
“สมเด็จพระปิยมหาราช” มีความหมายว่าพระราชาอันเป็นที่รักยิ่งแห่งราษฎร รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันปิยมหาราช เพื่อให้พสกนิกรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
2553/10/22
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น