ขณะนี้ผู้คนทั่วโลกกำลังตื่นตัวอย่างหนักกับปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) ซึ่งต่างคนต่างวิตกกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างได้รับผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อนทั้งทางตรงและทาง อ้อม ยิ่งนานวันผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อนก็ยิ่งรุนแรงและลุกลาม เพิ่มขึ้น
ฉะนั้นการเตรียมการป้องกันเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนนั้น นับเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนควรเข้าไปมีส่วนร่วม การเลือกซื้อและการบริโภคอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมนั้น นับเป็นวิธีหนึ่งที่หากเราทุกคนนำไปปฏิบัติ ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ การเลือกซื้อและการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง
1.เลือกซื้อและรับประทานในร้านอาหาร เช่น นั่งรับประทานข้าวในร้านอาหารตามสั่งทั่วๆ ไป โดยไม่ห่อกลับไปรับประทานที่บ้านจะทำให้ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก กล่องโฟม ถุงใส่เครื่องปรุงต่างๆ ได้ หากสถานที่ของร้านอาหารไม่มีที่นั่งรับประทานหรือไม่สะดวก ให้นำภาชนะสำหรับใส่อาหารจากบ้านมาให้ทางร้าน
2.เลือกซื้ออาหารสดที่ตลาดสด เพราะเป็นการช่วยลดการใช้ถาดโฟม ถาดพลาสติก กล่องกระดาษ ซึ่งเป็นภาชนะบรรจุที่เป็นที่นิยมสำหรับใช้บรรจุอาหารที่วางบนชั้นวาง จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ดังนั้นเราควรหันไปซื้ออาหารสดในตลาด และควรนำตะกร้าหรือถุงผ้าจากบ้านไปจ่ายตลาดด้วยทุกครั้ง
3.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่สามารถซื้อมาเติมใหม่ได้ เพื่อช่วยลดขยะจำพวกห่อของบรรจุภัณฑ์ เช่น สิ่งปรุงรสต่างๆ ที่บรรจุในขวดพลาสติก แล้วหันมาซื้อแบบเติม หรืออาจนำขวดแก้ว โหลแก้วที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลงเป็นภาชนะบรรจุ ก็จะสามารถช่วยลดขยะได้อีกทางหนึ่ง
4.เลือกซื้ออาหารตามฤดูกาล เช่น พืช ผัก ผลไม้ต่างๆ เพราะนอกจากจะปลอดสารพิษที่ทำร้ายโลกแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยงและอันตรายที่จะเกิดต่อตัวเราอีกด้วย และการหันมาเลือกซื้อพืช ผัก ผลไม้ที่เพาะปลูกในประเทศ จะสามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่ง ลดพลังงานที่ใช้เพื่อการแช่แข็งในระหว่างการขนส่งได้อีกทางหนึ่งด้วย ตัวอย่างเช่น องค์กรชาวไร่ของสวิตเซอร์แลนด์ชื่อ ยูนแตร์ มีการคำนวณว่าหน่อไม้ฝรั่ง 1 กิโลกรัม ที่มีการนำเข้ามาจากประเทศเม็กซิโกนั้น ต้องใช้น้ำมันสำหรับการขนส่งทางเครื่องบินถึง 5 ลิตร ขณะที่หน่อไม้ฝรั่งในปริมาณเท่ากัน หากผลิตในสวิตเซอร์แลนด์ใช้น้ำมันเพียง 0.3 ลิตร ก็สามารถขนส่งถึงมือผู้บริโภคได้
5.เลือกบริโภคอาหารจำพวกผักแทนเนื้อสัตว์ให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกพืชผักมากขึ้น เพราะพืชผักและต้นไม้เป็นตัวดูดจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในอากาศ เพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง ดังนั้นการเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตร หรือแม้แต่การปลูกผักสวนครัวก็นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ มีรายงานการวิจัยที่พบว่า การผลิตและการรับประทานอาหารอเมริกันทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าการรับประทานอาหารมังสวิรัติถึง 1.5 ตันต่อปี และอาหารมังสวิรัติจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 3,000 ปอนด์ต่อคนต่อปีอีกด้วย
6.ลดการบริโภคเนื้อวัวเนื้อ (สเต๊ก) และแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งนอกจากจะดีต่อระบบการย่อยของร่างกายแล้ว ยังช่วยลดการสร้างก๊าซเรือนกระจกทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากมูลวัวและการเรอของวัวอีกทางหนึ่งด้วย รายงานขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า การทำฟาร์มปศุสัตว์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศมากกว่ารถยนต์ ส่วนก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์จะปล่อยออกมาทางลมหายใจและมูลสัตว์
7.ลดการซื้อและการบริโภคอาหารแช่แข็ง เพราะใช้พลังงานในการผลิตสูงถึง 10 เท่าของการผลิตอาหารทั่วไป นอกจากนั้นยังสามารถช่วยลดการใช้กล่องพลาสติกสำหรับใส่อาหารลดการขนส่ง ลดการใช้ไฟฟ้า เนื่องจากต้องแช่แข็งตลอดเวลา อีกทั้งเวลารับประทานจะต้องอุ่นด้วยไมโครเวฟ นอกจากนั้น เราอาจนำหลัก 7 R มาใช้ ควบคู่ไปด้วย
1. Rethink : มีความคิดที่จะเปลี่ยน แปลงด้วยตนเอง
2. Reduce : ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ต้อง ใช้เวลาชั่วอายุคนในการย่อยสลาย
3. Reuse : นำบรรจุภัณฑ์มาใช้ซ้ำ หรือหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ได้ครั้งเดียว
4. Recycle : นำวัสดุที่หมดสภาพหรือที่ ใช้แล้วมาปรับสภาพเพื่อนำมาใช้ใหม่
5. Repair : สิ่งของหลายอย่างสามารถ ซ่อมแซมแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ดังเดิม
6. Refuse : การปฏิเสธเป็นช่องทางหนึ่ง ที่ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่ให้ถูกนำมาใช้หรือ ถูกทำลายเร็วขึ้น
7. Return : การตอบแทนคืนแก่โลก ใครใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติประเภทใดมาก ควรต้องคืนทรัพยากรประเภทนั้นกลับคืนให้แก่โลกมากยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่ารูปแบบการบริโภคของ "มนุษย์" นั้นเป็นตัวกำหนดการใช้พลังงานและผลกระทบที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อมของโลก ฉะนั้นหากเรายังเลือกบริโภคแบบตามใจปาก โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อตนเองต่อเพื่อนมนุษย์และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังคงรับประทานอาหารตามแบบตะวันตกหรือรับประทานอาหารนอกฤดูกาล ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหาในอนาคตได้เร็วยิ่งขึ้น
ทุกๆ คน ควรเปลี่ยนวิถีชีวิตให้กลับมาใกล้ชิดกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น อาจเริ่มต้นด้วยกลเม็ดง่ายๆ เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต โดยเริ่มจากการเลือกซื้อและเลือกบริโภคอาหารอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยลดหรือชะลอการเกิดปัญหาภาวะโลกร้อนให้ช้าลงและยังส่งผลดีต่อสุขภาพของเราอีกด้วย
2553/10/04
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น