2553/10/22

มะเร็ง โรคที่เกิดจากฝีมือมนุษย์

มะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของมนุษย์ งบประมาณมหาศาลถูกใช้เพื่อศึกษาหาสาเหตุ วิธีการรักษา และหนทางป้องกันโรคมะเร็ง แม้จะศึกษาลึกถึงระดับเซลล์นักวิทยาศาสตร์ก็ยังบอกถึงสาเหตุของโรคได้เพียงกว้างๆ เท่านั้น เช่น สารพิษ รังสี และเชื้อโรค ที่ไปกระตุ้นให้กลไกการทำงานของเซลล์ผิดปกติและสูญเสียการควบคุมในที่สุด เซลล์ที่ผิดปกตินี้จึงแบ่งตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจนกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิต เรามักได้ยินคนพูดกันว่า "เดี๋ยวนี้คนเป็นมะเร็งกันมากขึ้นเพราะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ" เรื่องนี้จริงเท็จแค่ไหน? ถ้าจริงก็แสดงว่ายุคโบราณไม่มีใครป่วยเป็นมะเร็งเลยสิ เราจะสามารถศึกษามะเร็งจากฟอสซิลได้หรือไม่? โชคดีที่เรามีฟอสซิลอายุกว่า 2,000 ปี ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี

ใช่แล้วครับ มัมมี่ นั่นเอง

ศาสตราจารย์ไมเคิล ซิมเมอร์แมน (Michael Zimmerman) และ โรซารี เดวิด (Rosalie David) ศึกษาเนื้อเยื่อจากมัมมี่อียิปต์ เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง เนื่องจากในสมัยอียิปต์โบราณยังไม่มีวิธีการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็ง ดังนั้นหากมีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งก็น่าจะสามารถตรวจพบได้ แต่จากการตรวจสอบเนื้อเยื่อจากมัมมี่จำนวนหลายร้อยศพ พบเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งถือว่าน้อยมาก

มัมมี่ที่พบว่าเป็นโรคมะเร็งนั้น ไม่ได้เป็นฟาโรห์หรือขุนนาง แต่เป็นเพียงคนธรรมดาที่ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ อาศัยอยู่ที่โอเอซิสดาคลา (Dakhleh หรือ Dakhla) ในช่วง 200-400 ปีก่อนคริสตกาล แสดงให้เห็นว่าในยุคโบราณแทบจะไม่มีคนป่วยเป็นโรคมะเร็งเลย ซิมเมอร์แมนและเดวิดสรุปว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะในยุคโบราณมีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งน้อยกว่า แล้วทำไมอยู่ดีๆ โรคมะเร็งกลายมาเป็นโรคยอดนิยมในปัจจุบันไปได้?

ซิมเมอร์แมนและเดวิดเสนอว่าอาหารการกินและมลพิษที่เราสร้างขึ้นคือสาเหตุของโรคมะเร็ง หลายคนอาจจะคิดว่าเรื่องแค่นี้ใครๆ ก็รู้กันอยู่แล้ว ใช่ครับ แต่งานวิจัยนี้เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นว่า โรคมะเร็งเกิดจากฝีมือมนุษย์ล้วนๆ เพราะถ้าในธรรมชาติไม่มีปัจจัยใดๆ ที่ทำให้เป็นมะเร็งได้เลย ก็หมายความว่าโรคมะเร็งเกิดขึ้นจากปัจจัยที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเองทั้งหมด ทั้งอาหารการกิน อุตสาหกรรม สรุปคือวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นแหละ ที่ทำให้เราป่วยเป็นมะเร็ง ซึ่งก็สมเหตุสมผลที่เดียว เพราะปัจจุบันอาหารต่างๆ ที่เรากินนั้น มีการใช้สารปรุงแต่งต่างๆ ใช้วัตถุกันเสีย ไขมันที่ใช้ประกอบอาหารก็ปลี่ยนไปใช้ทรานส์แฟต (trans fat, อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Trans Fat ภัยร้ายใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด) เพื่อลดต้นทุนและความสะดวก นอกจากนี้การเผาผลาญเชื้อเพลิงที่เพิ่มมากขึ้นยังปล่อยก๊าซออกมามากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดเซลล์มะเร็งทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ดูเป็นการมองโลกในแง่ร้ายอย่างสุดโต่ง จึงไม่แปลกที่จะมีผู้ออกมาโต้แย้ง

ความเห็นแย้งที่มีมากที่สุดคือ มะเร็งนี่มันเป็นโรคที่เกิดในผู้สูงอายุ คนที่ป่วยเป็นมะเร็งตายก็คนแก่ๆ ทั้งนั้น พวกคนในยุคอียิปต์อายุขัยน้อยกว่าคนยุคนี้ตั้งเยอะ ส่วนใหญ่ตายก่อนแก่กันทั้งนั้น แล้วจะป่วยเป็นมะเร็งได้ยังไงกัน ที่เจอมัมมี่ที่เป็นมะเร็งแค่นิดเดียวก็ไม่เห็นจะแปลก อีกประเด็นหนึ่งคือมัมมี่อียิปต์ผ่านมาตั้งหลายพันปี เนิ้อเยื่อมะเร็งอาจจะสลายไปหมดแล้วเลยตรวจไม่พบก็ได้ เพราะนั้นจะมาโทษแต่มลพิษกับอาหารว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งล้วนๆ ไม่ได้หรอก

แต่ประเด็นนี้ซิมเมอร์แมนและเดวิดก็มีข้อโต้แย้งเช่นกัน จริงอยู่มนุษย์สมัยอียิปต์โบราณ มีอายุขัยน้อยกว่าสมัยนี้ แล้วก็ตายก่อนแก่เป็นส่วนใหญ่ ถึงจะไม่ได้ตายเพราะมะเร็งแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นมะเร็งนี่ มัมมี่ที่พบว่าเป็นมะเร็งก็ไม่ได้ป่วยตายเพราะโรคมะเร็ง เพียงแต่ตรวจพบว่ามีเซลล์มะเร็งเฉยๆ ถ้าบอกว่ามะเร็งพบในคนอายุมาก แล้วมันต้องมากขนาดไหนล่ะ? จากการตรวจสอบมัมมี่จำนวนหนึ่งก็พบอาการของโรคหลอดเลือดแดงตีบและโรคกระดูกพรุน ซึ่งโรคเหล่านี้ล้วนเป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุ หมายความว่ามัมมี่เหล่านี้มีอายุมากพอที่จะป่วยเป็นมะเร็งได้ ในทางกลับกันไม่พบมะเร็งกระดูกในมัมมี่ ทั้งที่เป็นมะเร็งที่พบมากในวัยหนุ่มสาว เพราะฉะนั้นอายุขัยจึงไม่ใช่เหตุที่ทำให้คนโบราณไม่ป่วยเป็นมะเร็ง
ส่วนเรื่องที่เซลล์มะเร็งอาจโดนทำลายไปนั้นซิมเมอร์แมนและเดวิดได้ทดลอง จนสามารถพิสูจน์ได้ว่ากระบวนการทำมัมมี่นั้นช่วยเก็บรักษาเซลล์มะเร็งไว้ได้ดีกว่าที่รักษาเซลล์ปกติเสียอีก จึงไม่ต้องห่วงเวลาเซลล์มะเร็งจะสลายไปเพราะเซลล์ปกติของมัมมี่ก็ยังอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์

หลักฐานที่บันทึกเกี่ยวกับโรคมะเร็งนั้นแม้แต่หลังจากยุคอียิปต์ก็พบน้อยมาก ในกรีกมีบันทึกเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากเนื้องอกอยู่บ้าง แต่รายงานทางวิทยาศาสตร์จริงๆ ที่เกี่ยวกับมะเร็งนั้น มีขึ้นในปี ค.ศ. 1775 หรือเมื่อประมาณ 200 กว่าปีก่อนเท่านั้น ซึ่งอาจอนุมานได้ว่ามะเร็งพึ่งปรากฏให้เห็นเด่นชัดในช่วงนี้เอง

งานวิจัยนี้เป็นสิ่งที่ย้ำให้เห็นว่า การที่เราวิถีชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปจนเสียสมดุลส่งผลกระทบมากขนาดไหน ขณะที่สังคมพัฒนาไป เราสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมามากมายและขณะเดียวกันก็ทำลายสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันด้วย ทำให้วิถีชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มะเร็งและอีกหลายโรค จึงเป็นผลกรรมจากสิ่งที่เราเคยก่อไว้เอง อย่างไรก็ตาม เราคงไม่สามารถย้อนกลับไปใช้ชีวิตอย่างมนุษย์ถ้ำได้ สิ่งที่พอจะทำได้มีเพียงการรักษาสิ่งแวดล้อมเอาไว้ ไม่ให้สูญเสียไปมากกว่านี้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าหากหากธรรมชาติเสียหายมากไปกว่านี้มนุษย์จะได้รับผลกรรมอะไรอีกบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น