2553/12/10

ดร.อาจอง เผยหิมะตก ในประเทศไทย ม.ค. ปีหน้า

อาจอง พยากรณ์หิมะตกไทยต้นมกราคมปีหน้า เตือนกาญจน์ระวังเขื่อนแตก


เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา อดีตนักวิทยาศาสตร์นาซา และผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาวะโลกร้อนเปิดเผยถึงความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศของประเทศ ที่ส่งสัญญาณมาทางพายุหมุนทอร์นาโดขนาดเล็ก ณ บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และพัทยา ว่า ปกติแล้วพายุทอร์นาโดมีให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดาในต่างประเทศ แต่ประเทศไทยไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสาเหตุมาจากอุณหภูมิสูงขึ้น และขณะนี้ทั่วโลกอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบ 1 องศาแล้ว แม้ภาพรวมจะไม่เห็นชัดเจนนัก แต่ที่ผ่านมาก็ส่งผลให้ประชากรในยุโรปเสียชีวิตแล้ว 20,000 คน จากความร้อนที่สูงขึ้นมีผลกระทบโดยตรง ประเทศที่อยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเยอะ ที่ผ่านมามีหิมะตกครั้งแรกในเวียดนาม เคนยา และมีความเป็นไปได้ที่ในเดือนมกราคม 2552 นี้จะมีหิมะตกในภาคเหนือของประเทศไทย


ดร.อาจอง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ภาวะโลกร้อนยังส่งผลให้ภาวะน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ละลายเร็วกว่าที่คิด ขณะนี้มีก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่เท่ากับเมืองนิวยอร์กไหลสู่ทะเล หมายความว่าน้ำในทะเลจะค่อยๆ กินชายฝั่งทะเลบ้านเราไปเรื่อย ตอนนี้เราสูญเสียแผ่นดิน 1 กิโลเมตร ที่ชายทะเลบางขุนเทียน และทั่วโลกเจอปัญหาเดียวกัน โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาออกมาพูดแล้วว่าต่อไปเมืองไมอามี่ ซึ่งเป็นเมืองติดทะเลจะไม่เหลือ
ทั้งนี้กรุงเทพฯ สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่ถึง 1 เมตร เมื่อระดับน้ำทะเลขึ้นมาเกินกว่า 1 เมตร กรุงเทพฯ พร้อมกับจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และลพบุรี ครึ่งจังหวัดจะจมอยู่ใต้น้ำ และนั่นหมายความว่าพื้นที่ผลิตข้าวในภาคกลางจะหมด ราคาข้าวในตลาดโลกจะสูงเป็นประวัติการณ์ เพราะแหล่งปลูกข้าวในภาคกลางเลี้ยงคนเกือบทั้งโลก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของแผนที่นาซาว่า ภายใน 30 ปี น้ำทะเลจะสูงขึ้น 6 เมตร

ดร.อาจอง กล่าวอีกว่า เพื่อรับมือกับปัญหานี้จำเป็นต้องย้ายเมืองหลวงตั้งแต่เดี๋ยวนี้เพราะต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ในการย้ายเมือง และภายใน 6 ปีจะเริ่มเห็นระดับน้ำทะเลสูงขึ้นในระดับท่วมขังแล้ว จะสูบออกได้ยาก นอกจากสร้างเขื่อนกั้นน้ำเหมือนกับประเทศเนเธอร์แลนด์ จะป้องกันได้ แต่ล่าสุดตนไปประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อเดือนที่แล้ว เขาบอกว่าจะรับไม่ไหวแล้วเพราะระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การสูบน้ำออกจากเขื่อนทำได้ลำบาก สถาปนิกของประเทศเริ่มออกแบบบ้านอยู่บนแพกันแล้ว อย่างไรก็ตาม การย้ายเมืองใหม่อันดับแรกต้องย้ายรัฐสภาไปก่อน เพราะเป็นศูนย์กลางของเมืองใหม่ เมื่อย้ายไปหน่วยราชการต่าง ๆ จะตามไป จุดเหมาะสมที่จะย้ายเมืองหลวงคือ อีสานตอนใต้ ขณะที่ภาคใต้จะเจอพายุรุนแรงมากขึ้น จะเกิดสตอม เซอจมาถึงกรุงเทพฯ อย่างที่ ดร.สมิทธ บอกไว้ ส่วนภาคตะวันตกจะมีพายุไซโคลนเข้ามา โชคดีที่ผ่านมาพายุนาร์กีสเข้าไปที่พม่ายังมาไม่ถึง ประเทศไทย

อดีตนักวิทยาศาสตร์นาซา กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ตนเคยเตือนแล้วว่าเขื่อนใหญ่ 2 เขื่อน ในจังหวัดกาญจนบุรี อยู่ใต้รอยร้าวของเปลือกโลก แต่วิศวกรแย้งว่าได้ออกแบบการก่อสร้างเขื่อนให้ทนต่อแผ่นดินไหวได้ 8 ริคเตอร์ แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง อย่างไรก็ตาม ถ้าเอาเขื่อนมาเขย่าในความแรง 8 ริคเตอร์ เขื่อนก็สามารถทนได้ แต่ถ้ารอยร้าวเคลื่อนที่สลับกันจะทำให้เขื่อนแตก และน้ำจะไหลลงมาท่วมจังหวัดกาญจนบุรี ที่อยู่ใต้เขื่อน และจะทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลต้องให้นักธรณีวิทยาไปศึกษาดู เบื้องต้นต้องรีบปล่อยน้ำออกจากเขื่อนให้เหลือน้อยลง แม้ว่าเขื่อนแห่งนี้จะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญของพื้นที่ภาคกลางก็ตามที จำเป็นต้องเสียสละไฟฟ้าเพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ และต่อไปการสร้างบ้าน สร้างอาคารในแนวที่มีรอยร้าวแผ่นดินไหวไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ กรุงเทพฯ อีสานตอนเหนือ ต้องออกฎหมายรับรอง การทนทานต่อแผ่นดินไหวอย่างน้อย 6 ริคเตอร์

ส่วน นายศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงศ์ อธิบดี กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงกรณีที่มีผู้กล่าวว่าในช่วงเดือนมกราคม 2552 จะมีหิมะตกในประเทศไทย ว่า การที่จะมีหิมะตกหรือไม่ขึ้นอยู่กับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่แผ่เข้าปกคลุมในประเทศไทยช่วงนั้นว่ามีความหนาวเย็นมากแค่ไหน โดยต้องดูเรื่องระดับความสูงของพื้นที่ในไทยด้วย ซึ่งโดยรวมคิดว่าน่าจะเกิดแม่คะนิ้งตามภูเขาและดอยในเชียงใหม่ และเชียงรายมากกว่า ไม่ใช่หิมะ

ขณะที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ ม.รังสิต กล่าวว่า เรื่องที่จะเกิดหิมะตกในเมืองไทยถือเป็นเรื่องที่ไกลตัวและมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก เนื่องจากลักษณะภูมิศาสตร์ของประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตอากาศร้อนชื้นและไม่ได้อยู่ติดกับประเทศจีนเหมือนพื้นที่ภาคเหนือของเวียดนาม ที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้การเกิดหิมะตกอุณหภูมิต้องติดลบ แต่ลักษณะภูมิอากาศของไทยยังไม่ถึงขั้นติดลบ โอกาสที่จะเกิดหิมะตกจึงเป็นไปได้ยาก คงมีแต่โอกาสที่จะเกิดลูกเห็บตกและเกิดแม่คะนิ้งบน ดอยสูงมากกว่า

"สำหรับในเรื่องอีก 30 ปี จะเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ เรื่องนี้มีโอกาสเป็นไปได้สูง หากดูจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2538 ซึ่งหากมีปริมาณฝนตกหนักเหมือนปี 2538 ประกอบกับแผ่นดินที่ทรุดตัวลงทุกๆ ปี รวมกับน้ำเหนือที่ไหลลงมา และเกิดน้ำทะเลหนุนขึ้น หากปัจจัยต่างๆ เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ก็อาจจะใช้เวลาไม่ถึง 30 ปี โดยพื้นที่ที่จะเกิดน้ำท่วมก่อนคือจังหวัดสมุทรปราการ แต่การท่วมจะเป็นไปในลักษณะเหมือนน้ำขึ้น-น้ำลงตามระดับ จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหาทางรับมือตั้งแต่ตอนนี้เพื่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายน้อยที่สุด" รศ.ดร.เสรี กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น