ประเทศจีนเป็นแหล่งกำเนิดต้นไผ่ และเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการวิจัย เพาะปลูก และใช้ประโยชน์จากมัน โดยจีนมีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับไม้ไผ่มายาวนาน ในปี ค.ศ. 1954 ได้มีการขุดพบซากโบราณในวัฒนธรรมเส้าหยางย้อนไปประมาณ 6,000 ปีที่หมู่บ้านปั้นพอในมณฑลซีอัน ในจำนวนเครื่องเคลือบที่ขุดพบมีอักษร “ไม้ไผ่” อยู่ด้วย เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าชาวจีนรู้จักและใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่ตั้งแต่ช่วงยุคหินใหม่แล้ว
ไม้ไผ่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของชาวจีนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย และการคมนาคม ล้วนมีไม้ไผ่เป็นส่วนประกอบ เครื่องดนตรีโบราณเกือบทุกประเภทก็ทำมาจากไม้ไผ่ รวมทั้งหนังสือในยุคแรกๆ ก็ทำมาจากไม้ไผ่ผ่าซีกแล้วขึงด้วยเชือก ต่อมาได้มีการนำเยื่อไผ่มาทำเป็นกระดาษ นอกจากนี้นักอักษรศาสตร์และจิตรกรจีนยังนิยมแต่งโคลงกลอนและวาดภาพไม้ไผ่
จีนสมัยโบราณได้กำหนดให้ไม้ไผ่เป็น 1 ใน “4 ยอดสุภาพบุรุษ” อันได้แก่ ดอกเหมย กล้วยไม้ ไม้ไผ่ และดอกเบญจมาศ นอกจากนี้ไผ่ก็ยังติดทำเนียบ “3 สหายแห่งฤดูเหมันต์” อันได้แก่ สน ไม้ไผ่ และดอกเหมย
ไป๋ จีว์อี้ (ค.ศ.772-846) กวีเลื่องชื่อในสมัยราชวงศ์ถังได้สรุปคุณลักษณะอันดีงามของไม้ไผ่ โดยกล่าวว่า รากหยั่งลึกแสดงถึงความกล้าหาญ ลำต้นสูงตรงหมายถึงเกียรติยศชื่อเสียง โพรงข้างในนั้นคือความถ่อมตัว ภายนอกสะอาดและดูเรียบง่ายคือความบริสุทธิ ดังนั้นเขาถึงสรุปว่าไม้ไผ่เหมาะสมที่จะติดทำเนียบ “4 สุภาพบุรุษ”
นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณความดีแล้วไม้ไผ่ยังเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตอันยืนยาว เพราะความแข็งแกร่ง ทนทาน และไหวโอน ไผ่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพที่ไม่เอื้ออำนวย ความยืดหยุ่นและการปรับตัวให้เข้ากับสภาพคือเคล็ดลับแห่งการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและยืนยาว ดังนั้นซินแสดูฮวงจุ้ยมักจะแนะนำให้นำไม้ไผ่มาปลูกไว้หน้าบ้านเป็นเชิงให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านอายุมั่นขวัญยืนนั่นเอง
ทั้งนี้ ไม้ไผ่ในโลกนี้มีกว่า 1,000 ชนิด 100 สายพันธุ์ ขณะที่ในจีนเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยไม้ไผ่นานาพันธุ์ โดยมีทั้งหมด 500 ชนิด 37 สายพันธุ์ ธุ์ ในจำนวนนี้มีไม้ไผ่ซึ่งมีลายจุดๆ เรียกว่า “ไผ่นางสนม” (湘妃竹) รวมอยู่ด้วย โดยมีเรื่องเล่าว่า เมื่อ 4,000 ปีก่อน จักรพรรดิ์ซุ่นตี้ทรงเสด็จประพาสแดนใต้ แต่เนื่องด้วยทรงงานหนักเกินไปจึงสิ้นพระชนม์ลง พระศพถูกฝังอยู่ที่มณฑลหูหนันในปัจจุบัน
พระสนมเอ๋อหวงและหนี่ว์อิง ซึ่งตามเสด็จไปด้วยในครั้งนั้นเศร้าโศกเสียใจอย่างมากที่สูญเสียพระสวามีไป ทั้งสองร้องไห้คร่ำครวญอยู่ริมแม่น้ำเซียงเจียง ร้องจนน้ำตากลายเป็นสายเลือด และหยดลงบนพื้น พลันปรากฏไม้ไผ่ลายจุดผุดขึ้นมาจากพื้น คนรุ่นหลังจึงเรียกไผ่ชนิดนี้ว่า “ไผ่นางสนม” โดยในบทกลอนของกวีถังบรรยายว่า “คราบน้ำตาบนต้นไผ่ สะท้อนใจระทมด้วยความโหยหา”
ไผ่อีกชนิดหนึ่งที่จะกล่าวถึงคือ “ไผ่เมิ่งจง” ซึ่งตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่เมิ่งจงลูกกตัญญู...เมิ่งจง เป็นบัณฑิตผู้อาศัยอยู่ที่รัฐอู๋ ในสมัยสามก๊ก (ก่อนประวัติศาสตร์ 220-280) เขาเสียพ่อไปตั้งแต่ยังเล็ก อาศัยอยู่กับแม่เพียง 2 คนอย่างขัดสน เมื่อเมิ่งจงโตขึ้น แม่เขากลับป่วยเป็นโรคร้ายที่ไม่มียารักษา หมอท่านหนึ่งแนะนำว่าถ้าทำน้ำแกงหน่อไม้ให้แม่ของเขาทาน บางทีอาจช่วยรักษาอาการได้ แต่เวลานั้นเป็นหน้าหนาวจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะหาหน่อไม้ได้
เมิ่งจงไปควานหาหน่อไม้ในป่าไผ่แต่ก็หาไม่ได้ จึงร้องไห้คร่ำครวญ ฟ้าดินเห็นใจความกตัญญูของเขาจึงได้บันดาลให้หน่อไม้ไผ่ผุดขึ้นมาจากพื้นดิน หลังจากแม่ของเขาได้กินน้ำแกงหน่อไม้อาการให้ดีขึ้น เรื่องราวความกตัญญูของเขาก็ขจรขจายไปทั่ว
ส่วนไม้ไผ่ที่แพนด้าชอบกินนั้นเรียกว่า “ไผ่ศร” ซึ่งจะออกดอกทุกๆ 60 ปี จากนั้นต้นแม่จะแห้งเหี่ยวและตายในที่สุด ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 10 ปี กว่าไผ่ลูกศรต้นใหม่จะเติบโตจนกลายเป็นอาหารให้แพนด้าสามารถกินได้อีกครั้ง อีกทั้งแพนด้าจะไม่กินไม้ไผ่ที่ผลิดอกด้วย
หยางสีว์อี้ว์ รองผู้อำนวยการสถาบันพิทักษ์สัตว์ป่าแห่งมณฑลเสฉวน (ซื่อชวน) เคยให้สัมภาษณ์ว่า แพนด้ายักษ์ที่อาศัยอยู่บนภูเขาในมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศกำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร เนื่องจากไม้ไผ่ลูกศรซึ่งเป็นอาหารโปรดของแพนด้าในป่าไผ่พื้นที่ 350,000 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนมากที่พร้อมใจกันออกดอกและตายขุยลงก่อนที่จะผลิตไผ่รุ่นใหม่ แล้วยิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ เกิดเหตุแผ่นดินไหว 8.0 ริกเตอร์ที่มณฑลเสฉวน ยิ่งทำให้แพนด้าเผชิญความเสี่ยงต่อการขาดแคลนอาหารหนักขึ้นด้วย
2554/01/06
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น