“ฟลูออไรด์” เป็นสารประกอบของธาตุฟลูออรีน ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ทั้งในน้ำ ดิน เนื้อสัตว์ และพืช ส่วนในร่างกายมนุษย์มักพบฟลูออไรด์ในกระดูก ฟัน และของเหลวทั่วร่างกาย
จากการศึกษาพบว่าฟลูออไรด์เป็นสารที่ช่วยป้องกันโรคฟันผุได้ โดยสารฟลูออไรด์จะเข้าไปรวมตัวกับแคลเซียม ที่เป็นส่วนประกอบของฟัน เกิดเป็นสารใหม่ที่ทนทานต่อการกัดกร่อนของกรดได้มากขึ้น ทำให้ฟันเราแข็งแรงขึ้น
การได้รับสารฟลูออไรด์เป็นประจำ สม่ำเสมอ ในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยให้ฟันผุน้อยลง
นอกจากจะได้รับฟลูออไรด์จากการ บริโภคอาหาร เรายังสามารถเสริมฟลูออไรด์ได้ด้วยการใช้ฟลูออไรด์สัมผัสกับฟันโดยตรง และยังสามารถเสริมฟลูออไรด์ด้วยการกลืนกินยาฟลูออไรด์ได้อีกด้วย
การใช้ฟลูออไรด์สัมผัสกับฟันโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการแปรงฟันด้วยยาสีฟันฟลู ออไรด์ การเคลือบ การขัดฟัน การบ้วนปากด้วยน้ำยาผสมฟลูออไรด์ เป็นวิธีที่สามารถใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และเป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากอีกวิธีหนึ่ง
ส่วนการกลืนกินยาฟลูออไรด์ โดยการเติมฟลูออไรด์ลงในน้ำหรืออาหารให้เด็กรับประทาน เพื่อให้ฟลูออไรด์เข้าไปอยู่ในฟันขณะที่ฟันกำลังมีการเจริญเติบโต เป็นวิธีเสริมฟลูออไรด์ที่นิยมใช้กับเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือน ไปจนถึง 16 ปี โดยขนาดของฟลูออไรด์ที่ใช้ จะขึ้นอยู่กับปริมาณของฟลูออไรด์ในน้ำดื่มและอายุของเด็ก
แม้การเสริมฟลูออไรด์จะเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์ต่อฟัน แต่ก็ต้องใช้ให้ถูกวิธี ในปริมาณที่พอเหมาะ และถูกกับวัย มิฉะนั้นก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน
ในต่างประเทศได้มีการกล่าวถึงการเกิดพิษของฟลูออไรด์ ซึ่งมีทั้งการเกิดพิษอย่างเฉียบพลัน เกิดจากการได้รับฟลูออไรด์เกินขนาดในครั้งเดียว อาจด้วยความเข้าใจผิดหรือพลั้งเผลอ ซึ่งจะมีอาการรุนแรงเพียงใดขึ้นอยู่กับปริมาณฟลูออไรด์ที่ได้รับเข้าไป โดยจะมีอาการ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย
วิธีการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น ก็คือให้ผู้ป่วยดื่มนมมาก ๆ แล้วนำส่งแพทย์ทันที หากสงสัยว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นพิษจากฟลูออไรด์หรือไม่ ให้เก็บปัสสาวะผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง แล้วส่งตรวจระดับฟลูออไรด์ในปัสสาวะ
นอกจากการเกิดพิษอย่างเฉียบพลันแล้ว ยังอาจเกิดพิษชนิดเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากการได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณเกินกว่ากำหนดเป็นระยะเวลาติดต่อกันยาวนาน อาการที่บ่งชี้ได้แก่ ฟันตกกระ มีการ ปวดข้อมือข้อเท้า หากเป็นมากจะลุกลามไปยังกระดูกสันหลัง จะไม่ สามารถเคลื่อนไหวได้ ทำให้หายใจลำบาก และเสียชีวิตไปในที่สุด
ในประเทศไทยอาการดังกล่าวมักพบในผู้ที่ดื่มน้ำบาดาลในภาคเหนือ ซึ่งมีส่วนผสมของฟลูออไรด์ตามธรรมชาติ เช่นที่ อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เป็นต้น
การเสริมฟลูออไรด์จึงต้องคำนึงถึงปริมาณที่เหมาะสม ควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนทำการเสริมฟลูออไรด์ เพราะการได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปอาจทำให้ฟันตกกระ และเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
การใช้ยาสีฟันเสริมฟลู ออไรด์ ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ควรเลือก
ใช้ยาสีฟันที่มีความเข้มข้นต่ำ 500 ppm. ซึ่งสังเกตได้จากฉลากบนกล่องยาสีฟัน สำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป สามารถใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ได้ตามมาตรฐาน คือ 1,000-1,100 ppm. ไม่ควรกินหรือกลืนยาสีฟัน และควรกลั้วปากให้ทั่วหลังการแปรงฟัน
อย่างไรก็ดี การเสริมฟลูออไรด์เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยป้องกันฟันผุ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าได้รับการเสริมฟลูออไรด์แล้วฟันจะไม่ผุ หรือฟันจะแข็งแรงทนทานตลอดไป การที่ฟันจะผุหรือไม่ผุขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่าง เช่น การทำความสะอาดฟันอย่างถูกวิธี และสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ การเลือกรับประทานอาหารที่มีฟลูออไรด์ตามธรรมชาติ อาทิ อาหารทะเลต่าง ๆ ปลาทะเลบางชนิดที่มีกระดูกอ่อนกินได้ทั้งตัว อย่างเช่น ปลาไส้ตัน ปลาดาบเงิน หรือพืชผักผลไม้ อย่างเช่น ใบกุยช่าย ตั้งโอ๋ ถั่วงอก สะระแหน่ มะเขือยาว ใบเมี่ยง พริก บีทรูท กระเทียม กะหล่ำปลี ผักโขม ไข่แดง ข้าวต่าง ๆ แอปเปิ้ล องุ่น กล้วย เชอรี่ แครอท ผักใบเขียว มันฝรั่ง ฯลฯ ก็จะช่วยทำให้ทั้งสุขภาพฟัน และสุขภาพร่างกายแข็งแรงไปควบคู่กับดูแลตัวเองด้วยวิธีง่าย ๆ เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถอวดยิ้มสดใสได้อย่างไม่ต้องอายใคร...
2554/01/06
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น