2553/08/18

ฮอลลีวูด เลิฟแฟชั่น

แสงพร้อม กล้องพร้อม แฟชั่นพร้อม แอ็กชั่น!!!



ยากที่จะปฏิเสธว่า วันนี้แฟชั่นได้กลายมาเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญของวงการหนัง เมื่อผลงานทั้งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแวดวงแฟชั่นโดยตรง รวมทั้งหนังที่ยกให้แฟชั่นมีบทบาท ราวกับเป็นธีมหรือคอนเซปต์ของเรื่อง ต่างทยอยออกมาให้ได้ชมกันต่อเนื่อง ทำให้วันนี้...สไตลิสต์หรือดีไซเนอร์บางคนเกิดเพราะหนัง และหนังบางเรื่องก็เกิดเพราะสไตลิสต์หรือดีไซเนอร์ อย่างไม่ใช่เรื่องแปลก

หากย้อนเวลากลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ของวงการหนังก็จะพบว่า...เสื้อผ้าอาภรณ์ที่ตัวละครสวมใส่ในหนังถูกยกระดับจากคอสตูมธรรมดาให้กลายมาเป็นตัวช่วยขายหนังตั้งนานมาแล้ว และถ้าพูดถึงหนังและแฟชั่นแล้ว คนแรกที่ใครต่อใครต้องนึกถึงคือ ออเดรย์ เฮปเบิร์น เจ้าของตำแหน่ง สุดยอดแฟชั่นไอคอนในหนัง

ดาราสาวคนดังแห่งทศวรรษ 1960 ออเดรย์ เฮปเบิร์น เธอเป็นผู้หญิงสวย น่าหลงใหล และน่าลอกเลียนสไตล์ โดยเฉพาะกับชุดแต่งกายของเธอในหนังเรื่อง Breakfast at Tiffany’s ซึ่ง ฮิวเบิร์ต จิวองชี เป็นผู้ออกแบบ พวกเขาช่วยฝังรากแห่งความผูกพันระหว่างฮอลลีวูดและแฟชั่น

จนถึงวันนี้ ฮอลลี โกไลต์ลี ซึ่งรับบทโดย ออเดรย์ เฮปเบิร์น ยังคงเป็นผู้นำแฟชั่นอย่างไร้กาลเวลา เธอถูกโหวตให้เป็นตัวละครที่เป็นแฟชั่นไอคอนอันดับ 1 ตามมาคือ สาวชาวนิวยอร์ค แคร์รี แบรดชอว์ (ซาราห์ เจสสิกา ปาร์กเกอร์) จากหนังดังแห่งปี 2008 เรื่อง Sex and the City และ แอนดี แซคส์ (แอนน์ แฮธาเวย์) จาก The Devil Wears Prada

ปัจจุบันผู้คนยังคงชื่นชอบสไตล์ของ ฮอลลี โกไลต์ลี เธอทำให้ ลิตเติลแบล็กเดรส ที่จิวองชีออกแบบให้ กลายเป็น “ไอเท็ม” อันดับต้นๆ ที่สาวๆ ใฝ่ฝันอยากสวม ตามมาด้วยชุดเดรสผูกคอสีขาวซึ่ง มารีลีน มอนโร สวมใน The Seven Year Itch และรองเท้าสีชมพูของ จูดี การ์แลนด์ ในบท โดโรธี จากเรื่อง The Wizard of Oz

ถ้าจะว่าไปแล้ว คนกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์แฟชั่นในหนังก็รวมถึง เฟย์ ดันอะเวย์ และ วอร์เรน บีตตี ดารานำจาก Bonnie and Clyde ซึ่งทำให้เกิดเทรนด์แห่งทศวรรษ 1930 ด้วยเสื้อผ้าของ ธีโอดอร์ แวน รันเคิลส์ และทรงผมที่เฟย์ตัดก็เยี่ยมยอด จนทำให้คนอยากดูหนังเรื่องนี้เพิ่มขึ้น

หนุ่มหล่อสุดเซ็กซี่ในมาดแบดบอยอย่าง มาร์ลอน แบรนโด จาก On the Waterfront และ Streetcar Named Desire ทำให้เสื้อยืดแจ็กเกตหนังและยีนส์กลายเป็นแฟชั่นยอดนิยมของผู้ชายในยุค 1950

นอกจากชุดเด่นเดรสสีขาวผูกคอซึ่ง มาริลีน มอนโร พยายามจับชายกระโปรงไม่ให้ปลิวตามแรงลมที่เธอสวมในหนังเรื่อง The Seven Year Itch (ปี 1955) แล้ว ดาราสาวคนนี้ยังมีชุดเดรสสีชมพูไร้สายของเธอใน How to Marry a Millionaire (ปี 1953) นั้นเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ วิลเลียม ทราวิลลา และ ซัลวาตอเร เฟอร์รากาโม ที่ยังไม่มีใครลืมจนถึงทุกวันนี้

อีฟส์ แซงค์ ลอแรงต์ แต่งตัวให้ แคเธอรีน เดอเนิฟ ใน หนัง Belle de Jour (ปี 1967) และเธอก็กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของดีไซเนอร์ชื่อดังผู้นั้นต่อมาอีกหลายปี

ต้นปี 1970 ราล์ฟ ลอเรน ยังไม่เป็นที่รู้จัก กระทั่ง โรเบิร์ต เรดฟอร์ด และ มีอา ฟาร์โรว์ สวมเสื้อผ้าของเขาในหนังเรื่อง Great Gatsby เขายังออกแบบเสื้อผ้าให้กับ Annie Hall ซึ่งทำให้ชุดแบบ “แมนๆ” ที่ดาราสาว ไดแอน คีตัน สวมเป็นสไตล์ล้ำสุดๆ ในปี 1974 หญิงสาวทั้งหลายนำแจ็กเกตและเสื้อโค้ตของผู้ชายมาสวมกันเป็นเรื่องปกติ

ไมเคิล ดักลาส ใน Wall Street ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่ง “ความโลภคือ ความดี” ในทศวรรษ 1980 เขาทำให้สายรั้งกางเกงลายสีแดงอันโตกลายมาเป็นชิ้นสำคัญในการแต่งกายแบบยัปปีที่ยังคงมีให้เห็นจนถึงปัจจุบัน

เมื่อ มาดอนน่า ในหนังเรื่อง Desperately Seeking Susan สวมเสื้อโชว์บราก็ก่อเป็นกระแสแฟชั่นที่นำเอาอันเดอร์แวร์มาเป็นเอาเตอร์แวร์นิยมกันทั่วทุกหัวระแหงในปี 1984 และคงอยู่มาจนถึงวันนี้

ข้ามฟากไปถึงซีรีย์ทางโทรทัศน์อย่าง Gossip Girls ที่นำเสนอเรื่องราวของวัยรุ่นจากสังคมชั้นสูงในนิวยอร์คก็ทำให้สาวน้อยทั้งหลายลุกขึ้นมาตามล่าหาของที่คล้ายคลึงกับตัวละครในเรื่องมาสวมใส่กันเป็นทิวแถว ไม่ว่าจะเป็นที่คาดผมแบบควีนบีหรือชุดเก๋แบบเซรีนาก็ตามที

หนังหลายเรื่องให้ความสำคัญกับคอสตูมมากกว่าองค์ประกอบอื่น แฟชั่นได้กลายมาเป็นคอนเซปต์ของหนังหลายๆ เรื่อง มีส่วนทำให้หนังประสบความสำเร็จ เมื่อมีแฟชั่นเป็น “ใจความ” หลักของหนัง ตำแหน่งสำคัญของทีมงานคือ ดีไซเนอร์หรือสไตลิสต์ และวันนี้ก็คงไม่มีใครไม่รู้จัก แพทริเชีย ฟิลด์ สาวเปรี้ยวสูงวัยชาวนิวยอร์คซิตี้โดยกำเนิด ผู้อ้างว่าให้กำเนิดเลกกิงสำหรับผู้หญิงสมัยใหม่ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เธอเป็นเจ้าของบูติกชื่อเดียวกับชื่อตัวซึ่งตั้งอยู่ในแมนฮัตตัน แพทริเชีย ฟิลด์ โด่งดังขึ้นมาเมื่อ ซาราห์ เจสสิกา ปาร์กเกอร์ ชักชวนให้มาออกแบบเสื้อผ้าให้ตัวละครในซีรีย์ Sex and the City ตั้งแต่ฤดูกาลแรกในปี 2000

หลังประสบความสำเร็จจากซีรีย์เรื่องนั้น แพทริเชีย ฟิลด์ ก็มี “งานเข้า” เป็น The Devil Wears Prada (ปี 2006) ที่ทำให้เราได้เห็น เมอริล สตรีป สะดุดตาด้วยผมสีเทา แต่งกายในชุดสุดชิก หรูหรา ฟู่ฟ่า สมกับบทบาท มิแรนดา บรรณาธิการนิตยสารแฟชั่นชั้นนำของโลก ขณะที่ผู้ช่วยสาวอย่าง แอนดี แซคส์ (แอนน์ แฮธาเวย์) อาจจะไม่ใช้ของแพงเทียบเท่ามิแรนดา แต่ก็สวยสะดุดตาเสียจนสาวๆ อดขโมยสไตล์ไม่ได้ ทั้งยังมี เอมิลี บรันต์ ผู้ช่วยอีกคนของมิแรนดา เป็นแรงดึงดูดในคนรักแฟชั่นได้อีก

แพทริเชีย ฟิลด์ สไตลิสต์ของหนังบอกว่า เธอใช้สินค้าของดีไซเนอร์มากกว่า 100 ราย ทั้งหมดมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เพราะงบน้อยเธอจึงใช้วิธียืม ซึ่งรวมถึง ขนมิ้งค์ของเดนนิส บาสโก ราคา 30,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 1 ล้านบาท!?) โค้ทขนแกะเปอร์เซียของเฟนดิราคา 25,000 เหรียญสหรัฐ หินลาวาสลักของเฟรด ลีห์ตัน ราคา 15,000 เหรียญสหรัฐ ทั้งหมดนั้นเมอริล สตรีป เป็นผู้สวมใส่ ส่วนสาวน้อยแอนน์ แฮธาเวย์ ใช้ของราคาย่อมลงมา อย่างเช่น โค้ทขนแกะสีงาช้างของ Yigal Azrouel ราคา 2,500 เหรียญสหรัฐ (หรือราว 9 หมื่นบาทเท่านั้น!?) และรองเท้าบู๊ตชาแนลราคา 995 เหรียญสหรัฐ (ราคาเซลส์แล้ว)

แน่นอนเมื่อ Sex and the City ถูกนำมาสร้างเป็นหนัง (ปี 2008) แพทริเชีย ฟิลด์ ก็ยังตามมาทำหน้าที่สไตลิสต์ และทำให้หนังประสบความสำเร็จมหาศาล เพราะแฟชั่นมีส่วนอย่างมาก ผลที่ตามมาคือ ผู้หญิงทุกแห่งหนในโลกพยายามที่จะเป็น แคร์รี แบรดชอว์ นางเอกของเรื่องนี้ประดับร่างด้วยเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และเครื่องประดับจากดีไซเนอร์ชั้นนำ แพทริเชียทำให้ผู้หญิงทั้งโลกอยากจะสวมเสื้อชั้นสูงของเวอร์วาเชเรื่อยไปจนถึงสร้อยคอสลักชื่อราคาไม่กี่ร้อยบาท ที่ตัวละครนำใช้กับหนังที่ออกฉายเมื่อต้นปี Confessions of a Shopaholic ทำให้เราได้เห็น สาวรีเบคกา (แสดงโดย ไอส์ลา ฟิชเชอร์) ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักที่จะเลิกเป็นเหยื่อของแฟชั่น แต่ก็เป็นเรื่องยากยิ่ง ทั้งเนื้อตัวของเธอเต็มไปด้วยแบรนด์เนม และเธอก็สวมมันอย่างมีสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าสีสันสดใส ลายเสือดาว ลายตาหมากรุก ทุกอย่าง “แมตชิง” กันทั้ง เข็มขัดทอง รองเท้าบู๊ตขนสัตว์สีชมพู ฯลฯ รีเบคกาจึงโดดเด่นสะดุดตากลายมาเป็นต้นแบบสาวๆ นอกจอได้จำนวนหนึ่ง นี่ก็เป็นผลงานของสไตล์กูรูอย่าง แพทริเชีย ฟิลด์ เช่นกัน

หนังเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่า ฮอลลีวูด นั้นหลงใหลในแฟชั่น และวงการแฟชั่นก็ต้องการพลังมหาศาลของวงการหนังมาช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้มีความเคลื่อนไหว เช่นนั้นแล้วสายสัมพันธ์แบบวินวินระหว่างแฟชั่นและฟิล์มนั้นจะยังคงอยู่ต่อไป

ภายในสัปดาห์นี้ Bruno อันเป็นหลักฐานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างฟิล์มและแฟชั่นก็จะออกฉาย ผลงานของดาวตลก ซาชา บารอน โคเฮน ที่จะพาคนดูได้ไปตามติดชีวิตของบรูโน (ซาชา บารอน โคเฮน) แฟชั่นนิสตาชาวสีม่วงจากออสเตรีย (ผู้มีรายการโชว์เป็นของตัวเองชื่อ Funkyzeit Mit Bruno) กับการหาทางดังระดับโลก หนังตลกเรื่องนี้จะนำเสนออีกด้านของแวดวงแฟชั่น ส่วนเครื่องแต่งกายของดารานำซึ่งมีสไตล์เฉพาะตัวสุดๆ อาจจะเลียนแบบได้ยาก

และอีกไม่นานเกินรอ สาวกของแบรนด์ ชาแนล ก็เตรียมพบกับ Coco Avant Chanel หนังที่นำเรื่องราวชีวิตของ แกเบรียล (ออเดรย์ โตตู) หญิงสาวที่ก้าวมาจากผงธุลีสู่การเป็นดาวแห่งวงการแฟชั่นในชื่อ โคโค ชาแนล มาสร้าง นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งครั้งที่แฟชั่น (ย้อนยุค) จากหนังจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับการแต่งกายของผู้หญิงทั่วโลก ดีไซเนอร์ผู้นี้ทำให้ลิตเติลแบล็กเดรสเป็นสิ่งที่ผู้หญิงต้องมีติดตู้ เป็นผู้ออกแบบแจ็กเกตสั้นหรือบ็อกซี แจ็กเกต ทำให้กางเกงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้หญิง พร้อมด้วยสร้อยไข่มุกพันหลายทบ และทำให้ชาแนลนัมเบอร์ไฟฟ์กลายเป็นหนึ่งในน้ำหอมชั้นนำของโลก

หนังเรื่องนี้จะทำให้กระแสชาแนลฟีเวอร์แพร่กระจายไปทั่ว (อีกครั้ง)...และยืนยันถึงสายสัมพันธ์แนบแน่นของฮอลลีวูดกับแฟชั่น คัต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น