2553/09/29

“The Judgment of Paris : คำตัดสินของปารีส” ต้นเหตุสงครามกรุงทรอย

เหตุการณ์กรณีพิพาท “แอปเปิ้ลทองคำ” อันเป็นสาเหตุหนึ่งทีก่อให้เกิดมหาสงครามกรุงทรอยขึ้น ตามเรื่องเล่าใน มหากาพย์อีเลียด ที่ว่าด้วยสงครามกรุงทรอยนั้นยืดยาวและเต็มไปด้วยพล็อตย่อยต่างๆ มากมาย และนี่เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เรื่องยุ่งๆ ของเทพเจ้าเข้ามาพัวพันกับเรื่องของมนุษย์ จนเกิดหายนะขึ้น

ในงานสมรสของกษัตริย์เพเลอุส (Peleus) เจ้านครเมอร์ไมดอนส์ (Myrmidons) กับเทพีแห่งท้องทะเล เธตีส (Thetis) บรรดาเจ้านคร รวมไปถึงเหล่าทวยเทพได้รับเชิญมากันอย่างพร้อมหน้า ขาดแต่เพียง เทพีเอรีส (Iris) เทพีแห่งความขัดแย้ง ที่ไม่มีใครอยากข้องเกี่ยวด้วย เธอไม่พอใจอย่างมากที่ถูกมองข้ามไปเช่นนี้ จึงออกอุบายสร้างความวุ่นวายภายในงานเลี้ยง โดยโยนผลแอปเอิ้ลทองคำลงมากลางงานผลหนึ่ง

ลำพังเพียงแอปเปิ้ลทองคำคงไม่มีผู้ใดใส่ใจนัก หากแต่มันไม่สลักข้อความไว้ว่า “สำหรับสตรีที่งามที่สุดในปฐพี” แน่นอนว่าบรรดาสาวงามในที่นั้นทั้งมนุษย์และทวยเทพต่างหมายจะเป็น “สตรีที่งามที่สุด” แต่สุดท้ายก็คงเหลือเพียงเทพีชั้นสูงเพียงสามนางที่เข้ารอบสุดท้ายในการช่วงชิงตำแหน่ง นั่นคือ เทพีเฮรา (Hera) สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งเขาโอลิมปัส มเหสีของมหาเทพเซอุส (Zeus), เทพีอโฟรไดต์ (Aphrodite หรือ วีนัส Venus) เทพีแห่งความรัก และ เทพีอเธน่า (Athena) เทพีแห่งปัญญา ทั้งสามทูลขอให้มหาเทพเซอุสเป็นผู้ตัดสิน เทพคณบดีรู้สึกอิหลักอิเหลื่อเป็นยิ่งนัก เกรงว่าคำตัดสินจะสร้างความไม่พอใจให้ผู้พ่ายแพ้ คิดได้ดังนั้นจึงโยนเผือกร้อนไปให้ ปารีส (Paris) เจ้าชายตกยากแห่งเมืองทรอย ให้เป็นผู้ชี้ขาด

ไม่ว่ามนุษย์เดินดินหรือเทพเดินอากาศต่างก็ยังไม่หมดซึ่งกิเลส บรรดาเทพีทั้งสามต่างติดสินบนปารีสเพื่อตัดสินให้ตนเป็นผู้ชนะ เทพเฮราสัญญาว่าจะให้ปารีสเป็นยอดขุนศึกมีชัยเหนือกองทัพกรีก เทพีอเธน่าสัญญาว่า จะช่วยให้ปารีสได้ครอบครองดินแดนทั้งเอเชียและยุโรป (ในสมัยนั้นก็คือเกือบครึ่งโลก) ทางฝ่ายเทพีอโฟรไดต์ อ้างว่าตนเป็นเพียงเทพแห่งความรัก ไม่มีอำนาจจะบันดาลความยิ่งใหญ่ใดๆ ให้ได้ หากแต่ถ้าปารีสตัดสินให้นางเป็นผู้ชนะแล้วไซร้ นางสัญญาว่าจะให้ปารีสได้ครอบครองสตรีผู้เลอโฉมที่สุดแห่งยุค แน่นอนว่าปารีสหน้าหม้อติดสินให้เทพีอโฟรไดต์เป็นผู้ชนะ
นี่เองจึงเป็นที่มาของการเข้าข้างของฝ่ายทวยเทพในการสงครามแห่งกรุงทรอย โดยเทพีอโฟรไดต์พร้อมด้วยสวามี เทพมาร์ส (Mars) ถือหางข้างทรอย ส่วนเทพีผู้พ่ายแพ้ทั้งสองก็หันมาช่วยฝ่ายกรีก สงครามเริ่มบานปลายจากการเข้ามายุ่งเกี่ยวของทวยเทพ จนที่สุดมหาเทพเซอุสจึงมีประกาศิตห้ามเหล่าเทพยื่นมือเข้าไปยุ่งกับสงครามของพวกมนุษย์ และผลของสงครามลงเอยเช่นไรคงจะทราบกันดี

ต่อเนื่องมาจากเรื่องก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับ ปารีส เจ้าชายตกอับ ที่ไปตัดสินกรณีพิพาทผลแอปเปิ้ลทองคำ แล้วก็เลือกให้เทพอโฟรไดต์เป็นผู้ชนะ นางจึงทำตามสัญญา นั่นคือพาปารีสไปพบกับสตรีผู้เลอโฉมที่สุดในยุคนั้น คือ เฮเลน (Helen)

หลังจากที่เทพีอโฟรไดต์ช่วยเหลือให้ปารีสกลับคืนสู่สถานะเจ้าชายแห่งทรอยแล้ว เธอก็ชี้นำให้ปารีสได้พบกับเฮเลน แล้วทั้งคู่ก็ตกหลุมรักกันทันที ซึ่งบ้างก็ว่าเป็นเพราะผลแห่งศรของคิวปิด (Cupid) ผู้บุตรแห่งนางนั่นเอง ลำพังหนุ่มสาวจะรักกันชอบกันมันก็ไม่ใช้เรื่องผิดปรกติวิสัย แต่มันน่าลำบากใจตรงที่เฮเลนไม่ใช่สาวโสดซิงๆ นางมีผู้ผัวเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว แถมยังดุเสียด้วย นั่นคือ เมเนเลอัส (Meneleus) แห่งสปาร์ต้า ด้วยไฟรักสุมอก ปารีส ลอบลักพานางมาอยู่กินกันที่กรุงทรอย ทำเอาเมเนเลอัสโกรธเกรี้ยวที่เสียเมียรักและเสมือนถูกฉีกหน้าอย่างแรง จึงชักชวนพี่ชาย อกาเมมนอน (Agamemnon) ผู้ครองกรีก ยาตราทัพบุกกรุงทรอย ให้ราบคาบ

การที่กรีฑาทัพนับแสนหวังจะชิงเอาสาวงามเพียงคนเดียวมันก็ออกจะดูเกินไปเสียหน่อย ว่ากันไปแล้วอันที่จริงการชิงนางเฮเลนนั้นเป็นเพียงเป้าหมายรองเสียมากกว่า เป้าใหญ่แท้ๆ นั่นน่าจะเป็นการยึดเอากรุงทรอยที่แสนจะอุดมสมบูรณ์ด้วยผลผลิตทางการเกษตร อีกทั้งยังเป็นมหานครที่มั่งคั่งมากในยุคนั้น เป็นเสมือนเมืองท่าพักจอดสำเภาในการค้าขาย เรียกได้ว่าใครได้ครองทรอยก็เหมือนได้เป็นเจ้าสัวใหญ่ดีๆ นี่เอง อีกทั้งพวกสปาร์ตันกับกรีก ก็หมั่นไส้พวกทรอยมาแต่เดิมอยู่แล้ว พอปารีสมาทำงามหน้าเช่นนี้เข้าให้ พวกสปาร์ตันและกรีกจึงอ้างความชอบธรรมในการขยี้ทรอยทันที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น