2553/10/22

นักดาราศาสตร์ตะลึง พบดาวเคราะห์ดวงแรกคล้ายโลก และเหมาะที่จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

นักดาราศาสตร์เผยพบดาวเคราะห์ที่เหมาะแก่การดำรงชีวิตเป็นครั้งแรก ไม่ร้อน ไม่หนาวเกินไป เป็นดาวเคราะห์ที่เหมาะพอดีสำหรับสิ่งมีชีวิต อยู่ไม่ใกล้และไม่ไกลดาวฤกษ์ที่เป็นศูนย์กลางมากไป จึงจุน้ำในรูปของเหลวไว้ได้ อีกทั้งตัวดาวเคราะห์เองยังไม่เล็กหรือใหญ่ไปสำหรับการมีพื้นผิว แรงโน้มถ่วงและชั้นบรรยากาศที่เหมาะสม มีคุณสมบัติพอเหมาะเหมือนโลกของเรา

“ดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นดาวเคราะห์โกลดิล็อคส์จริงๆ ดวงแรก” อาร์ พอล บัทเลอร์ (R. Paul Butler) จากสถาบันคาร์เนกีแห่งวอชิงตัน (Carnegie Institution of Washington) ผู้ร่วมค้นพบดาวเคราะห์ให้ความเห็น

เอพีรายงานว่า ดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่ค้นพบนี้อยู่ในตรงกลางตำแหน่งที่นักดาราศาสตร์เรียกว่า “ตำแหน่งที่อาศัยอยู่ได้” (habitable zone) หรือโซนโกลดิล็อคส์ (Goldilocks zone)ซึ่งดาวเคราะห์ที่พบนี้ต่างไปจากดาวเคราะห์ราว 500 ดวงที่นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบนอกระบบสุริยะของเราก่อนหน้านี้ และดวงเคราะห์นี้ยังอยู่ในกาแลกซีละแวกใกล้เคียงกับเรา ซึ่งชี้ให้เห็นว่าดาวเคราะห์คล้ายโลกจำนวนมากโคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่น
ทั้งนี้ การค้นพบดาวเคราะห์ที่น่าจะเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตได้นั้นเป็นก้าวสำคัญที่จะตอบคำถามอันเป็นอมตะว่า “เราอยู่ในจักรวาลนี้เพียงลำพังหรือไม่?” และการค้นพบของนักดาราศาสตร์ล่าสุดนี้ได้ตีพิมพ์ลงวารสารแอสโทรฟิสิคัลเจอร์นัล (Astrophysical Journal) และได้รับการประกาศจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐฯ (National Science Foundation) เมื่อวันพุธที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น

ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์เคยด่วนตัดสินใจออกมาประกาศว่า ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเรานั้นมีสภาพพอให้อาศัยอยู่ได้ แต่หาได้เอต่อการก่อกำเนิดชีวิต แต่สำหรับหนนี้มีนักดาราศาสตร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้นพบถึง 5 รายให้สัมภาษณ์แก่เอพีว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ในเขตที่สิ่งมีชีวิตจะอาศัยได้และดูจะเป็นของจริงอย่างชัดเจน

“นี่เป็นดาวเคราะห์ดวงแรกที่ผมรู้สึกตื่นเต้นด้วยจริงๆ” จิม แคสติง (Jim Kasting) จากเพนน์สเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ (Penn State University) สหรัฐฯ กล่าวและให้ความเห็นว่าดาวเคราะห์ดวงนี้เป็น “ตัวเก็ง” ที่จะเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิต

ทั้งนี้ สิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงอื่นไม่มีหมายถึงมนุษย์ต่างดาวตัวเขียวหรืออีที (E.T.) แต่สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอย่างแบคทีเรียหรือราก็เขย่าความเชื่อว่าโลกเป็นแหล่งพักพิงของสิ่งมีชีวิตเพียงหนึ่งเดียวได้

หากแต่ยังคงมีคำถามอีกมากเกี่ยวกับดาวเคราะห์ดวงใหม่นี้ โดยมีมวลมากกว่าโลกถึง 3เท่า และยังมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่า อีกทั้งยังอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ของตัวเองค่อนข้างมาก โดยอยู่ห่างประมาณ 22.5 - 150 ล้านกิโลเมตร ซึ่งนับว่าใกล้มากเมื่อนำมาเปรียบกับระบบสุริยะของเรา และยังโคจรรอบดาวฤกษ์ของตัวเองในเวลาเพียง 37 วัน นอกนี้ยังไม่ค่อยหมุนรอบตัวเอง ซ฿งจำให้ด้านหนึ่งของดาวเคราะห์สว่างอยู่เสมอ ขณะที่อีกด้านมืด

สตีเฟน วอกต์ (Steven Vogt) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานตาครูซ (University of California at Santa Cruz) ผู้ร่วมค้นพบดาวเคราะห์อีกคน กล่าวว่าอุณหภูมิบนดาวเคราะห์ดวงนี้สูงได้ถึง 160 องศาเซลเซียส และเย็นต่ำได้ถึง -25 องศาเซลเซียส หากแต่ในช่วงที่ดวงอาทิตย์ขึ้นอากาศจะค่อนข้างอบอุ่น

อย่างไรก็ดี เรายังไม่ทราบว่ามีอยู่บนดาวเคราะห์ดวงนี้จริงหรือไม่และชั้นบรรยากาศบนดาวเคราะห์นี้เป็นอย่างไร แต่เนื่องจากดาวเคราะห์นี้อยู่ในตำแหน่งอันเหมาะสมที่มีน้ำในรูปของเหลวอยู่ อีกทั้งเพราะดูคล้ายว่าจะมีสิ่งมีชีวิตบนโลกในทุกที่ที่มีน้ำ ดังนั้น วอกต์เชื่อว่ามีโอกาสที่จะมีสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนี้ 100%

ดาวเคราะห์ดวงนี้โคจรรอบดาวฤกษ์ที่ชื่อกลีส 581 (Gliese 581) ที่อยู่ไกลออกไปจากโลก20 ปีแสงหรือ 190 ล้านล้านกิโลเมตร ซึ่งอาจดูเป็นระยะที่ไกลมากแต่เมื่อเทียบกับเอกภพอันกว้างใหญ่แล้ววอกต์กล่าวว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้ก็เหมือนอยู่ตรงหน้าเรานี่เอง ซึ่งทำให้นักดาราศาสตร์ยิ่งเข้าใกล้ดาวเคราะห์ที่สิ่งมีชีวิตอาศัยได้และดาวเคราะห์ประเภทนี้อาจจะไม่ได้หายากนัก

วอกต์และบัทเลอร์ได้ทำการคำนวณบางอย่างซึ่งให้ผลว่าในกาแลกซีที่พบดาวเคราะห์ดวงนี้มีดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงโลกอยู่ในเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ และจากการประมาณดาวฤกษ์2 แสนล้านดวงในเอกภพ อาจจะมีดาวเคราะห์ที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ประมาณ 4 หมื่นล้านดวง แต่ สก็อตต์ เกาดี (Scott Gaudi) จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท (Ohio State University)เตือนให้ระวังความไม่แน่นอนของจำนวนดาวเคราะห์เหล่านี้

วอกต์และบัทเลอร์ใช้กล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้งบนภาคพื้นดินเพื่อติดตามความแม่นยำในการเคลื่อนที่ของดาวฤกษ์นานกว่า 11 ปี และจับตาการส่ายที่ชี้ว่ามีดาวเคราะห์โคจรรอบดาวฤกษ์นั้นอยู่ ซึ่งดาวเคราะห์ที่พบใหม่นี้เป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 6 ที่โคจรรอบดาวกลีส 581 ซึ่งในจำนวนดาวเคราะห์ที่พบนี้มี 2 ดวงแรกน่าจะเป็นแหล่งที่สิ่งมีชีวิตอาศัยได้ ส่วนดาวเคราะห์ดวงอื่นนั้นร้อนเกินไป และดวงที่ 5 ก็หนาวเย็นเกินไป ส่วนดาวเคราะห์ดวงที่ 6 ซึ่งพบใหม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม


ดาวเคราะห์ดวงที่ 6 ของดาวกลีส 581 ได้รับการตั้งชื่อว่า กลีส 581จี (Gliese 581g) ตามลำดับดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ที่เริ่มต้นชื่อด้วย “เอ” (a) ต่อท้ายชื่อดาวฤกษ์

วอกต์กล่าวว่าชื่อดาวเคราะห์ดวงนี้ไม่น่าสนใจนักแต่ดาวเคราะห์ดวงนี้ก็เป็นดาวเคราะห์ที่สวยงาม และเขาได้ตั้งชื่อดาวเคราะห์ดวงนี้อย่างไม่เป็นทางการตามชื่อภรรยาของเขาว่า “โลกของซาร์มินา” (Zarmina's World)

สำหรับดาวกลีส 581 นี้เป็นดาวแคระซึ่งมีขนาดเพียง 1 ใน 3 ของดวงอาทิตย์เรา ดังนั้น ด้วยขนาดที่เล็กมากจึงต้องอาศัยกล้องโทรทรรศน์ส่องจากพื้นโลกจึงจะมองเห็น โดยดาวฤกษ์ดังกล่าวอยู่ในกลุ่มดาวตาชั่ง (Libra constellation) แต่ในทางตรงกันข้ามบัทเลอร์กล่าวว่าหากเรายืนอยู่บนดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่ค้นพบนี้เราจะเห็นดวงอาทิตย์ของเราได้ง่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น