2553/02/27

ช็อกโกแลต.

ช็อกโกแลต หรือ ช็อกโกเลต (Chocolate) คือผลิตผลที่ได้มาจากเมล็ดของต้นโกโก้เขตร้อน ช็อกโกแลตเป็นส่วนผสมของของหวานหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นไอศกรีม ลูกอม คุกกี้ เค้ก หรือว่าพาย ช็อกโกแลตถือได้ว่าเป็นของหวานอย่างหนึ่งที่ถูกใจคนทั่วโลก

ช็อกโกแลตทำจากการหมัก คั่ว และบดอย่างละเอียดของเมล็ดโกโก้ซึ่งได้มาจากต้นโกโก้เขตร้อน (tropical cacao tree) ซึ่งมีต้นกำเนิดจากอเมริกากลางและเม็กซิโก ต้นโกโก้นั้นถูกค้นพบโดยชาวอินเดียนแดงและชาวอัซเตก (Aztecs) แต่ในปัจจุบันได้แพร่กระจายและปลูกไปทั่วเขตร้อน เมล็ดของต้นโกโก้นั้นมีรสฝาดที่เข้มข้นมาก ผลผลิตของเมล็ดโกโก้รู้จักกันในนาม "ช็อกโกแลต" หรือบางส่วนของโลกในนาม "โกโก้"

ผลิตภัณฑ์จากเมล็ดโกโก้รู้จักภายใต้หลายชื่อแตกต่างกันไปในส่วนต่าง ๆ ของโลก ในอเมริกา อุตสาหกรรมช็อกโกแลตได้จำกัดความไว้ว่า

โกโก้ (cocoa) คือเมล็ดของต้นโกโก้
เนยโกโก้ (cocoa butter) คือไขมันของเมล็ดโกโก้
ช็อกโกแลต (chocolate) คือส่วนผสมระหว่างเมล็ดของต้นโกโก้และเนยโกโก้
ช็อกโกแลตคือส่วนผสมระหว่างเมล็ดของฝักถั่วโกโก้และเนยโกโก้ ซึ่งได้ผสมน้ำตาลและส่วนผสมอื่น ๆ และถูกทำให้อยู่ในรูปของแท่งและรูปอื่น ๆ

เมล็ดของต้นโกโก้นอกจากทำเป็นช็อกโกแลตได้แล้วยังสามารถทำเป็นเครื่องดื่มได้ด้วย เช่น ช็อกโกแลตร้อน เครื่องดื่มช็อกโกแลตนั้นได้ถูกคิดค้นขึ้นโดยชาวอัซเตก (Aztecs) หลังจากนั้นโดยชนเผ่าอินเดียนแดงและชาวยุโรป

บ่อยครั้งที่ช็อกโกแลตมักจะถูกทำให้อยู่ในรูปของสัตว์ต่าง ๆ คน หรือวัตถุในจินตนาการ เพื่อร่วมในงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น รูปกระต่าย รูปทรงไข่ในเทศกาลอีสเตอร์ รูปของเหรียญหรือซานตาคลอสในเทศกาลคริสต์มาส และรูปทรงหัวใจในเทศกาลวาเลนไทน์


ช็อกโกแลตถูกค้นพบมาตั้งแต่สองพันปีที่แล้ว หลังสมัยพระนางคลีโอพัตราแห่งอียิปต์ เป็นผลผลิตที่ได้จากเมล็ดของต้นคาเคา (cacao) ในป่าร้อนชื้นของทวีปอเมริกา จัดอยู่ในตระกูล Theobroma cacao แปลว่า "อาหารแห่งทวยเทพ"

ชนกลุ่มแรกที่รู้จักทำช็อกโกแลตเป็นอารยธรรมโบราณที่อยู่ในเม็กซิโก และอเมริกากลาง ชนกลุ่มนี้ได้แก่ชาวมายา และชาวแอซเทค แห่งอารยธรรมเมโสอเมริกา คนเหล่านี้เอาเมล็ดคาเคามาบดแล้วผสมกับเครื่องปรุงหลายชนิดเพื่อทำเป็นเครื่องดื่มที่มีรสขมเฝื่อน นอกจากใช้ประกอบอาหารแล้วช็อกโกแลตยังเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเชิงศาสนาและสังคมด้วย

ชาวมายา (ค.ศ. 250-900) เป็นชนชาติแรกที่มีหลักฐานชัดเจนว่าได้ค้นพบความลับของต้นคาเคา โดยพวกเขาได้นำต้นคาเคามาจากป่าฝนและปลูกไว้ที่สวนหลังบ้าน พอออกฝักก็เก็บเอาเมล็ดมาหมักบ้าง คั่วบ้าง และยังบดเป็นเนื้อเหนียว อยากชงเป็นเครื่องดื่มก็เอามาผสมน้ำ โรยพริกไท แป้งข้าวโพด ก็จะได้เครื่องดื่มช็อกโกแลตรสซาบซ่ามีฟองฟ่อง

ต่อมาราวคริสต์ศตวรรษที่ 14 อาณาจักรของชาวแอซเทคครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของอารยธรรมเมโสอเมริกา โดยมีเมืองหลวงตั้งอยู่ที่เมืองปัจจุบันเรียกว่า เม็กซิโก ซิตี้ ชาวแอซเทคได้ซื้อขายเมล็ดคาเคากับชาวมายาและชนชาติอื่น และยังเรียกเก็บค่าบรรณาการจากพลเมืองของตนและเชลยเป็นเมล็ดคาเคา โดยใช้แทนค่าเงิน ชาวแอซเทคนิยมดื่มช็อกโกแลตขมเช่นเดียวกับชาวมายายุคแรก โดยปรุงรสชาติให้ซู่ซ่าขึ้นด้วยเครื่องเทศ ชาวเมโสอเมริกาสมัยนั้นยังไม่มีใครปลูกอ้อยก็เลยไม่มีใครใส่น้ำตาลกัน

เล่ากันว่า คนมายายุคคลาสสิกชอบดื่มช็อกโกแลตกันในวาระพิเศษ ขณะที่บรรดาเชื้อพระวงศ์จะนิยมดื่มกันมาก ส่วนชาวแอซเทค บรรดาผู้ปกครองระดับสูง พระ ทหารยศสูง และพ่อค้าที่มีหน้ามีตาเท่านั้นที่มีสิทธิลิ้มรสเครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์นี้ ช็อกโกแลตมีบทบาทสำคัญในพิธีของราชวงศ์และศาสนา เพราะใช้เมล็ดคาเคาเป็นเครื่องสักการะเทพเจ้า และดื่มในพิธีสำคัญ

สำหรับที่มาของชื่อช็อกโกแลตนั้นยังไม่มีใครอธิบายได้แจ่มชัด แต่มีความเป็นไปได้สองทาง ทางแรกเป็นคำที่ผันมาจากคำว่า "ช็อคโกลัจ" ในภาษามายา ซึ่งหมายถึง มาดื่มช็อกโกแลตด้วยกัน อีกทางหนึ่งอธิบายว่าน่าจะมาจากภาษามายาเช่นกัน คือ " chocol" แปลว่า ร้อน ผสมกับคำว่า "atl" ของแอซเทคที่แปลว่า น้ำ พอมารวมกันจึงกลายเป็นคำว่า chocolatl และมาเป็น chocolate ต่อมาในยุโรป

โดยความเชื่อของชาวแอชเต็คส์ ประเทศเม็กซิโก "เมล็ดโกโก้เป็นอาหารที่เทพเจ้ามอบให้เพื่อเป็นใบเบิกทางไปสู่สวรรค์" เมื่อประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว ซึ่งทำให้พวกเขานำเมล็ดโกโก้มาทำเป็นเครื่องดื่มนั่นก็คือ "น้ำช็อกโกแลต" ต่อมานายเออร์นัน คอร์เตช นักสำรวจชาวสเปนแล่นเรือมาพบกับชาวแอชเต็คส์ ซึ่งเขาได้อาศัยอยู่กับชาวแอชเต็คส์และร่วมดื่มน้ำช็อกโกแลตด้วยกัน และนายคอร์เตชได้นำเมล็ดโกโก้กลับประเทศเพื่อลองทำเครื่องดื่มดูบ้าง และแต่งเติมรสให้หวานขึ้นจนเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันในสเปน จนในมี่สุด นายคอนราด เจ แวนฮูเตนท์ ชาวดัชได้ค้นพบการทำช็อกโกแลตแบบแท่ง เม็ด และผง [ต้องการอ้างอิง]

[แก้] ช็อกโกแลตในยุโรป
ก่อนหน้าคริสต์ศตวรรษที่ 15 คนยุโรปยังไม่มีใครรู้จักเครื่องดื่มชนิดนี้ สเปนเป็นประเทศแรกที่ออกเดินทางแสวงหาความมั่งคั่งสู่ทวีปอเมริกา และได้พบกับเครื่องดื่มที่มีรสชาติอมตะของช็อกโกแลต

หลังจากสเปนมีชัยเหนือชาวแอซเทคแล้ว พวกเขาได้นำเอาช็อกโกแลตกลับประเทศด้วย และกลายเป็นที่นิยมชมชอบในราชสำนักอย่างรวดเร็ว ภายในช่วงเวลา 100 ปี ความหลงใหลที่มีต่อช็อกโกแลตได้ขยายตัวลุกลามไปทั่วยุโรป

ก่อนหน้าที่เฮอร์นาน คอร์เตส ขุนพลของสเปนจะมีชัยเหนือเม็กซิโกในปี ค.ศ. 1521 อาจเคยมีนักสำรวจยุคแรกเคยเห็นต้นคาเคาในอเมริกากันมาบ้างแล้ว แต่สเปนกลับเป็นชาติแรกของยุโรปที่ค้นพบรสชาติที่เลิศล้ำของช็อกโกแลต การติดต่อกันระหว่างชาวสเปนและชาวแอซเทคได้เปิดประตูให้สองชาติได้แลกเปลี่ยนความคิดและเทคโนโลยีแก่กัน และตลาดยุโรปก็ได้รู้จักกับอาหารชนิดใหม่อย่างจากต้นคาเคา

สงครามในปี ค.ศ. 1521 คอร์เตสนำทหารเข้าสู้รบกับทหารของมอนเตซูมาจนได้รับชัยชนะ ทหารสเปนได้บังคับให้ขุนนางชาวแอซเทคนำทรัพย์สมบัติมาให้พวกตน ถ้ายังอยากมีชีวิตอยู่ คาเคา ซึ่งถือเป็นทรัพย์ และมีค่าใช้แทนเงินตราจึงกลายมาเป็นทรัพย์ที่ยึดจากเชลยศึก ทหารสเปนได้อ้างสิทธิครอบครองไร่คาเคาของชาวแอซเทค และรีดเอาจากประชาชนที่ส่งบรรณาการให้ชาวแอซเทค ในเวลาไม่นาน คาเคาและช็อกโกแลตได้ถูกส่งไปยังสเปน

ที่สเปน เครื่องดื่มช็อกโกแลตเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วจนไม่พอกับความต้องการ จึงต้องใช้แรงงานจำนวนนับล้านลงแรงเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และแปรรูปน้ำตาลและคาเคา นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 16 จนถึงปลายศตวรรษที่ 18 แรงงานส่วนใหญ่ที่มีราคาถูกแสนถูกที่ทำไร่คาเคาเป็นพวกทาส และชนกลุ่มแรกที่ถูกใช้เป็นแรงงานทาสทำช็อกโกแลตคือชาวเมโสอเมริกา

คนสเปนไม่ชอบรสชาติขมของช็อกโกแลต ทีแรกนายพลคอร์เตสกับเหล่าทหารของพวกเขาไม่ชอบรสชาติของช็อกโกแลตเลย แต่เพื่อให้ได้รสชาติถึงใจมากขึ้น พวกเขาเริ่มเอาช็อกโกแลตไปต้ม และใส่ส่วนผสมต่างๆ ลงไป

ครั้นเมื่อช็อกโกแลตเข้ามายังยุโรป มีใครบางคนเกิดไอเดียที่จะเติมน้ำตาลลงไป ใส่ชินเนมอน และเครื่องเทศลงไป ในที่สุดเครื่องดื่มช็อกโกแลตร้อนรสหอมหวานก็ถือกำเนิดขึ้นมา อย่างไรก็ดี ชาวสเปนยังคงวิธีการเตรียมและกระบวนการทำช็อกโกแลตไว้เหมือนเดิม และยังคงใช้ชาวพื้นเมืองเก็บฝักและหมัก ตาก ทำความสะอาด และคั่วเมล็ดคาเคา สเปนยังได้ประดิษฐ์เครื่องมือชนิดใหม่สำหรับใช้ทำช็อกโกแลตด้วย ซึ่งก็คือ ไม้คนที่เรียกว่า โมลินีโอ เอาไว้คนให้ช็อกโกแลตเป็นโฟมละเอียดง่ายขึ้น

เครื่องดื่มช็อกโกแลตนี้จะมีก็แต่ชาวสเปนผู้มั่งคั่ง และบาทหลวงเท่านั้นที่หาซื้อมาดื่มได้ พระสเปนได้แนะนำเครื่องดื่มช็อกโกแลตให้ราชสำนักได้ลิ้มลอง มีเรื่องเล่ากันว่า พระนิกายโดมินิกันนำคนพื้นเมืองเข้าเฝ้าเจ้าชายฟิลิปแห่งสเปน เชลยเหล่านี้ได้ปรุงเครื่องดื่มช็อกโกแลตให้เจ้าชายเสวย และในเวลาไม่นาน ชาวสำนักราชวังพากันเห่อดื่มช็อกโกแลตกันเป็นบ้าเป็นหลัง

เนื่องจากสเปนยึดครองอเมริกาเป็นอาณานิคมในยุคแรก ทำให้สเปนผูกขาดค้าขายช็อกโกแลตอยู่เพียงลำพังหลายปี จะมีก็แต่ชาวสเปนที่ร่ำรวยมหาศาลกับคนที่มีเส้นสายดีเท่านั้นที่มีเงินซื้อช็อกโกแลตที่แสนแพงนี้ได้ ชาวสเปนยอมรับว่าช็อกโกแลตช่วยให้กระปรี้กระเปร่า และมีคุณค่าทางโภชนาการ คาเคามีแคลอรีสูงตามธรรมชาติ และยังมีกาเฟอีน และสารเคมีที่มีคุณสมบัติคล้ายกันเรียกว่า ธีโอโบรไมนด้วย

ต่อมาในศตวรรษที่ 16 ช็อกโกแลตเริ่มเป็นเครื่องดื่มสำหรับพระที่ถือศีลอด และหลังจากถกเถียงกันมานาน ศาสนจักรคาทอลิกได้อนุญาตให้ประชาชนดื่มช็อกโกแลตเป็นอาหารทดแทนระหว่างถือศีลอด ซึ่งเป็นช่วงห้ามรับประทานอาหาร แต่ประเทศอื่นในยุโรปยังไม่มีโอกาสลิ้มรสช็อกโกแลตจนอีกร้อยปีต่อมา จะเป็นเพราะชาวสเปนพยายามเก็บช็อกโกแลตไว้แต่เพียงประเทศเดียวหรือไม่ และข่าวคราวเกี่ยวกับช็อกโกแลตแพร่งพรายออกไปได้อย่างไร ไม่มีใครรู้ชัด รู้กันแต่ว่าในที่สุดแล้ว ความลับเกี่ยวกับช็อกโกแลตได้แพร่งพรายออกไป และเริ่มเป็นที่นิยมในราชสำนักยุโรปอย่างรวดเร็ว และยืนยาวมาจนถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

หลายประเทศยุโรปเริ่มนำเอาพันธุ์พืชคาเคาไปปลูกในประเทศอาณานิคม ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ต่างยึดเมืองแถบเส้นศูนย์สูตรเป็นอาณานิคม อังกฤษนำต้นคาเคามาปลูกบนเกาะซีลอน หรือศรีลังกา เนเธอร์แลนด์นำไปเพาะปลูกที่เวเนซุเอลา ชวา และสุมาตรา ส่วนฝรั่งเศสปลูกที่เวสท์อินดีส ผลผลิตจากต้นคาเคาใช้เวลาไม่นานก็สามารถออกฝักและเมล็ดส่งกลับมายังเจ้าอาณานิคมเหล่านี้จนยุโรปกลายเป็นทวีปแห่งช็อกโกแลต

ชาวยุโรปบดเมล็ดคาเคาด้วยเครื่องโม่ทำให้บดได้คราวละจำนวนมาก เริ่มจากสมัยแรกใช้ครกตำแต่ต่อมาใช้กังหันลม บ้างก็ใช้โม่ที่อาศัยแรงงานม้าหมุนเครื่องบด คนยุโรปนิยมดื่มช็อกโกแลตกับน้ำตาล ซึ่งเป็นสินค้าราคาแพงอีกชนิดที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ช่วงปลายศตวรรษ 1600 เซอร์ ฮันส์ สโลน จากราชวิทยาลัยแพทย์เสนอช็อกโกแลตสูตรใหม่เป็นช็อกโกแลตใส่นมที่ให้รสชาติละเมียดขึ้น

ในฝรั่งเศส ช็อกโกแลตเป็นสินค้าผูกขาด มีตำนานเล่าว่า พระราชินีแอนแห่งออสเตรียชอบดื่มช็อกโกแลตเข้าขั้นเสพติด จนราชสำนักฝรั่งเศสต้องปิดเรื่องนี้ไว้ ช็อกโกแลตเริ่มกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งชนชั้น และมีพระราชบัญญัติห้ามไม่ให้ผู้ใด ยกเว้นสมาชิกของขุนนางฝรั่งเศสเท่านั้นที่ดื่มช็อกโกแลตได้ ต่างจากอังกฤษ ใครมีเงินซื้อก็ดื่มได้

ร้านช็อกโกแลตแห่งแรกเปิดบริการในลอนดอนเมื่อปี ค.ศ. 1657 คล้ายกับร้านกาแฟ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากกว่าในเวลาต่อมา ร้านช็อกโกแลตเป็นสถานที่ดื่มเครื่องดื่มร้อนเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ถกเรื่องการเมือง พบปะผู้คน และเล่นพนัน บางแห่งรับเฉพาะผู้ชาย แต่ก็หลายแห่งที่เปิดรับทุกเพศที่มีเงินจ่าย

ขั้นตอนการทำช็อกโกแลตไม่เปลี่ยนแปลงมาหลายร้อยปี จนกลายศตวรรษ 1700 ซึ่งเป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมอนาคตของช็อกโกแลตก็ถึงเวลาปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

ก่อนหน้ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ขั้นตอนการผลิตช็อกโกแลตต้องอาศัยแรงงานคนอย่างเดียว ซึ่งใช้เวลานาน และค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ช็อกโกแลตหาซื้อได้เฉพาะคนร่ำรวยเท่านั้น เมื่อนักประดิษฐ์ได้สร้างเครื่องจักรไอน้ำสำเร็จการผลิตช็อกโกแลตจำนวนมากด้วยเวลาที่สั้นลงทำให้เส้นทางของช็อกโกแลตไม่อยู่เฉพาะเครื่องดื่มเท่านั้นแต่ยังวิวัฒนาการกลายเป็นขนมหวานที่ได้รับความนิยมกันทั่วโลกด้วย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น