2553/02/06

ทฤษฎีบุคลิกภาพของ Sigmund Freud

ทฤษฎีบุคลิกภาพของSigmund Freudหรือ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theories )
ประวัติ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ( Sigmund Freud ) เป็นจิตแพทย์ชาวออสเตรียเชื้อสายยิว เกิดที่เมืองฟรายเบิร์ก( Freiberg )อยู่ในแคว้นโมราเวีย (Moravia) ปัจจุบันเป็นประเทศเชคโกสะโลวาเกีย เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1856 บิดาเป็นพ่อค้าขนสัตว์ มีฐานะปานกลาง ครอบครัวย้ายไปอยู่ที่เวียนนา เมื่อปี ค.ศ. 1873 และเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1930 ด้วยโรคมะเร็งที่ขากรรไกร เมื่อมีอายุได้ 83 ปี
ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ผู้คิดทฤษฎี
จิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theories )
ฟรอยด์ สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเวียนนา และเนื่องจากรายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว เขาจึงได้ไปศึกษาต่อทางด้านการแพทย์ที่เน้นเรื่องระบบประสาท และเริ่มต้นการทำงานทางด้านคลินิกรักษาโรค( Medical Clinic ) ด้วยการช่วยเหลือคนไข้ที่มีอาการทางโรคประสาทหรือโรคมจิตให้คลายจากอาการเจ็บป่วย ให้สามารถหายและมีชีวิตอยู่อย่างปกติมากกว่าที่จะพยายามค้นคว้าทฤษฎีที่เกี่ยวกับคนปกติโดยทั่วไป หลังจากนั้น ก็ได้ศึกษาเรื่องของกลไกทางจิตที่มีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ ( Psychological Mechanism of Behavior ) ต่อมาได้นำวิธีการสะกดจิต (Hypnosis) มาใช้กับคนไข้ ซึ่งพบว่าทั้งๆ ที่ ผู้บำบัดได้รับทราบเรื่องราวต่างๆที่เป็นปัญหาและอุปสรรคของคนไข้มากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากนัก ฟรอยด์ จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีการของจิตวิเคราะห์ อย่างมีหลักเกณฑ์ ด้วยวิธีการที่เรียกว่า การคิดอย่างอิสระ (Free Association) โดยวิธีการให้คนไข้นอนเก้าอี้นอน (Couch) แล้วให้เล่าถึงความรู้สึกนึกคิดต่างๆที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ เป็นการให้บุคคลระบายความในใจ ช่วยในการผ่อนคลายความคับข้องใจต่างๆ (Frustration) และความวิตกกังวล (Anxiety) ภายในจิตใจ ในขณะที่ ผู้บำบัดจะได้รับทราบถึงข้อมูลต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนไข้ ที่จะช่วยให้ผู้บำบัดเข้าใจถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระดับจิตไร้สำนึกของผู้ป่วย เพื่อจะสามารถวิเคราะห์ (Analyze) และแปลความหมาย (Interpretation) ของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถ เข้าใจถึงสาเหตุของพฤติกรรมที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพและความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมของตนเอง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญในกระบวนการบำบัด
แนวคิดที่สำคัญของทฤษฎี
แนวคิดที่สำคัญ ฟรอยด์ เชื่อว่าพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ มีแรงจูงใจมาจากจิตไร้สำนึก ซึ่งมักจะผลักดันออกมาในรูปความฝัน การพูดพลั้งปาก หรืออาการผิดปกติทางด้านจิตใจในด้านต่างๆ เช่น โรคจิต โรคประสาท เป็นต้น เขาเป็นบุคคลแรกที่ได้อธิบายทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับบุคลิกภาพซึ่งมีความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับแรงขับทางสัญชาตญาณ(Instinctual drive)และแรงขับดังกล่าวเป็นพลังงานที่สามารถเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนที่ได้ อันเป็นความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากความรู้ทางฟิสิกส์ จึงทำให้เชื่อว่าจิตเป็นพลังงานรูปหนึ่ง ที่สามารถเปลี่ยนแปลงและไม่หยุดนิ่ง (Psycho-Dynamic) สัญชาตญาณดังกล่าว ได้แก่
สัญชาตญาณแห่งการมีชีวิต (Eros or Life) เป็นสัญชาตญาณที่แสดงออกมาในรูปแบบของสัญชาตญาณทางเพศ (Sexual Instinct) แต่ฟรอยด์ไม่ได้หมายถึงความต้องการทางเพศตามความเรียกร้องทางด้านสรีระเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัญชาตญาณที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดและเป็นสัญชาตญาณ ที่แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาและความต้องการที่จะได้รับความพึงพอใจในรูปแบบต่างๆ และสัญชาตญาณในการป้องกันตนเอง อันเป็นสัญชาตญาณที่ทำให้มนุษย์แสวงหาความพึงพอใจให้แก่ตนเองและสัญชาตญาณแห่งความตาย (Thanatos or Death instinct) ที่แสดงออกมาในรูปของสัญชาตญาณในการทำลายหรือความก้าวร้าว ( Destructive instinct or aggressive instinct ) ฟรอยด์มองธรรมชาติในแง่ลบ (Pessimism) กล่าวคือ มนุษย์ไม่มีเหตุผล (Irrational) ไม่มีการขัดเกลา (Unsocialized) โดยมุ่งที่จะตอบสนองและแสวงหาความพึงพอใจให้กับตนเองเป็นสำคัญ (Self-gratification) นอกจากนี้ ฟรอยด์ยังได้อธิบายเพิ่มเติมในเรื่องความหมายของสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ว่าสัญชาตญาณ จะแสดงออกมาในรูปของพลังทางจิตที่เกี่ยวข้องกับพลังขับทางเพศเรียกว่า พลังลิบิโด (Libido)ที่ทำให้มนุษย์ มีความปรารถนาและความต้องการที่จะได้รับความพึงพอใจในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถเคลื่อนที่ เปลี่ยนรูป และสามารถจะเคลื่อนที่ไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตามระยะเวลาของพัฒนาการจากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่ง และยังสามารถเคลื่อนที่ไปยังวัตถุ หรือบุคคลนอกตัวเราได้ เช่น หากพลังลิบิโด เคลื่อนไปอยู่ที่แม่ ก็จะทำให้เด็กเกิดความรักและความหวงแหนแม่ เป็นต้น
การทำงานของจิตแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
1. จิตไร้สำนึก ( Unconscious Mind ) เป็นส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะพฤติกรรมบางอย่างที่บุคคลแสดงออกไปโดยไม่รู้ตัว ที่เกิดมาจากพลังของจิตไร้สำนึกซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นให้บุคคลแสดงออกไปตามหลักแห่งความพึงพอใจของตน และการทำงานของจิตไร้สำนึกเกิดจากความปรารถนา หรือความต้องการของบุคคลที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก ที่ไม่ได้รับการยอมรับ เช่น การถูกห้าม หรือถูกลงโทษ จะถูกเก็บกดไว้ในจิตส่วนนี้ ซึ่งเป็นกระบวนการปรับตัวเมื่อเกิดความขัดแย้งทางจิตที่มีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว เช่น การพูดพลั้งปาก ความฝัน เป็นต้น นอกจากนี้ สิ่งที่เก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึกอาจมีอิทธิพลต่อการทำงานของร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่ปฏิบัติหน้าที่ไปตามแรงกระตุ้น เช่น เด็กที่เก็บกดความรู้สึกมุ่งร้ายในเรื่องเพศในวัยเด็ก เมื่อเติบโตขึ้นก็อาจหมดความรู้สึกทางเพศได้ ส่วนจิตไร้สำนึกเปรียบเสมือนก้อนน้ำแข็ง ส่วนใหญ่ที่อยู่ใต้ผิวน้ำ โดยมีจิตสำนึก (Conscious Mind) เป็นส่วนของน้ำแข็งที่อยู่เหนือน้ำที่มีอยู่เพียงเล็กน้อย
2. จิตสำนึก ( Conscious Mind ) ซึ่งเป็นสภาวะที่บุคคลรับรู้ตามประสาทสัมผัสทั้งห้า ที่บุคคลจะมีการรู้ตัวตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่ คิดอย่างไรเป็นการรับรู้โดยทั่วไปของมนุษย์ ที่ควบคุมการกระทำส่วนใหญ่ให้อยู่ในระดับรู้ตัว (Awareness) และเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาโดยมีเจตนาและมีจุดมุ่งหมายจิตสำนึกเป็นส่วนที่ทำให้บุคคลมีพฤติกรรมสอดคล้องกับหลักความเป็นจริงในสถานการณ์ต่างๆ โดยอาศัยหลักแห่งเหตุผล และศีลธรรมที่ตนเองเชื่อถือเพื่อเป็นแนวทางในการแสดงพฤติกรรม
3. จิตก่อนสำนึก ( Preconscious Mind ) เป็นส่วนของประสบการณ์ที่สะสมไว้แต่มีลักษณะเลือนลาง เมื่อถูกสภาวะหรือสิ่งกระตุ้นที่เหมาะสม หรือเมื่อบุคคลต้องการนำกลับมาใช้ใหม่ก็สามารถระลึกได้และสามารถนำกลับมาใช้ในระดับจิตสำนึกได้ และเป็นส่วนที่อยู่ใกล้ชิดกับจิตรู้สำนึกมากกว่าจิตไร้สำนึก
จะเห็นได้ว่าการทำงานของจิตทั้ง 3 ระดับจะมาจากทั้งส่วนของจิตไร้สำนึกที่มีพฤติกรรม ส่วนใหญ่เป็นไปตามกระบวนการขั้นปฐมภูมิ (Primary Process)เป็นไปตามแรงขับสัญชาตญาณ (Instinctual Drives) และเมื่อมีการรับรู้กว้างไกลมากขึ้นจากตนเองไปยังบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อม พลังในส่วนของจิตก่อนสำนึกและจิตสำนึก จะพัฒนาขึ้นเป็นกระบวนการขั้นทุติยภูมิ (Secondary Process)
โครงสร้างของบุคลิกภาพ (Structure of Personality)
ฟรอยด์ เชื่อว่าโครงสร้างของบุคลิกภาพจะประกอบด้วย อิด (Id) อีโก้ (Ego) และซูเปอร์อีโก้ (Superego) มีรายละเอียดดังนี้
1. อิด (Id) จะเป็นต้นกำเนิดของบุคลิกภาพ และเป็นส่วนที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด Id ประกอบด้วยแรงขับทางสัญชาตญาณ (Instinct) ที่กระตุ้นให้มนุษย์ตอบสนองความต้องการ ความสุข ความพอใจ ในขณะเดียวกันก็จะทำหน้าที่ลดความเครียดที่เกิดขึ้น การทำงานของ Id จึงเป็นไปตามหลักความพอใจ (Pleasure Principle) ที่ไม่คำนึงถึงความเหมาะสมตามความเป็นจริง จะเป็นไปในลักษณะของการใช้ความคิดในขั้นปฐมภูมิ (Primary Process of Thinking) เช่น เด็กหิวก็จะร้องไห้ทันที เพื่อตอบสนองความต้องการของเขา และส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับจิตไร้สำนึก
2. อีโก้ (Ego) จะเป็นส่วนของบุคลิกภาพที่ทำหน้าที่ประสาน อิด และ ซูเปอร์อีโก้ ให้แสดงบุคลิกภาพออกมาเพื่อให้เหมาะสมกับความเป็นจริง และขอบเขตที่สังคมกำหนดเป็นส่วนที่ทารกเริ่มรู้จักตนเองว่า ฉันเป็นใคร Egoขึ้นอยู่กับหลักแห่งความเป็นจริง(Reality Principle)ที่มีลักษณะของการใช้ความคิดในขั้นทุติยภูมิ (Secondary Process of Thinking) ซึ่งมีการใช้เหตุผล มีการใช้สติปัญญา และการรับรู้ที่เหมาะสม และอีโก้ (Ego) เป็นส่วนที่อยู่ในระดับจิตสำนึกเป็นส่วนใหญ่
3. ซูเปอร์อีโก้(Superego)นั้นเป็นส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมจรรยา บรรทัดฐานของสังคม ค่านิยม และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่ผลักดันให้บุคคลประเมินพฤติกรรมต่างๆ ทีเกี่ยวข้องกับมโนธรรม จริยธรรมที่พัฒนามาจากการอบรมเลี้ยงดู โดยเด็กจะรับเอาค่านิยม บรรทัดฐานทางศีลธรรมจรรยา และอุดมคติที่พ่อแม่สอนเข้ามาไว้ในตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะที่เด็กมีอายุประมาณ 3 – 5 ขวบ (ระยะ Oedipus Complex) และเด็กจะพัฒนาความรู้สึกเหล่านี้ไปตามวัย โดยมีสภาพแวดล้อมทางบุคคลเป็นองค์ประกอบสำคัญการทำงานของ Superego จะขึ้นอยู่กับหลักแห่งจริยธรรม (Moral Principle) ที่ห้ามควบคุม และจัดการไม่ให้ Id ได้รับการตอบสนองโดยไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี โดยมี Ego เป็นตัวกลางที่ประสานการทำงานของแรงผลักดันจาก Id และ Superego
โดยทั่วไปแล้ว Superego จะเป็นเรื่องของการมีมโนธรรม (Conscience) ที่พัฒนามาจากการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ หรือผู้อบรมเลี้ยงดู ซึ่งเป็นค่านิยมที่พ่อแม่ถ่ายทอดให้ลูกว่าสิ่งใดดีควรประพฤติปฏิบัติหรือไม่อย่างไร ส่วนนี้จะทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกผิด (Guilt Feeling) ที่จะติดตามรบกวนจิตใจของบุคคลเมื่อกระทำสิ่งใดที่ขัดต่อมโนธรรมของตนเองและส่วนที่ เรียกว่าอุดมคติแห่งตน (Ego-Ideal) ที่พัฒนามาจากการเอาแบบอย่าง (Identification) จากบุคคลที่เคารพรักเช่น พ่อแม่ ผู้อบรมเลี้ยงดู และคนใกล้ชิด ทำให้เด็กรับรู้ว่าทำสิ่งใดควรประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะได้รับการยอมรับและความชื่นชมยกย่องซึ่งทำให้เกิดความอิ่มเอิบใจ เมื่อได้ทำตามอุดมคติของตนบางส่วนของ Superego จะอยู่ในระดับจิตสำนึกและบางส่วนจะอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น